งานหัตถกรรมเครื่องจักสานอีจู้
พื้นที่ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง มีแหล่งน้ำที่เป็นหนอง คลอง บึง อยู่ทั่วไป อีกทั้งมีบัวขึ้นอยู่มาก จึงเรียกพื้นที่นี้ว่าตำบลหนองบัว ซึ่งแหล่งน้ำเหล่านี้เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำมากมาย ทำให้ชาวบ้านนอกจากทำการเกษตรกรรมแล้ว ยังทำการประมงเพื่อบริโภค และขายเป็นรายได้เพื่อยังชีพอีกทางหนึ่ง
เครื่องมือดักจับสัตว์น้ำหลากหลายชนิด แต่ละครัวเรือนต่างสามารถสานผลิตขึ้นไว้ใช้เอง และทำขายหากมีเวลาว่าง หรือมีผู้สนใจสั่งให้ทำ ครั้นเมื่อสภาพของสังคมเปลี่ยนไป รูปแบบการดำรงชีพก็เปลี่ยนไป การทำเครื่องมือเครื่องใช้ในการประมงก็ค่อยๆ หมดไป ที่ยังคงอยู่ และถูกเชิดชูให้เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น ก็คือ อีจู้ เครื่องจักสานสำหรับดักปลาไหล ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และมีพ่อค้าคนกลางจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา จากอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และจากที่อื่นๆ มารับซื้อและสั่งทำ เพื่อนำไปขายในหลายๆ จังหวัด เช่น จังหวัดปราจีนบุรี นครนายก พระนครศรีอยุธยา และกาญจนบุรี เป็นต้น
การจัดเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์งานช่างฝีมือพื้นบ้านงานหัตถกรรมเครื่องจักสานอีจู้ ตำบลหนองบัวนี้ ก็เพื่อศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการดำรงอยู่ของภูมิปัญญานี้ว่าเสี่ยงต่อการสูญหาย หรือสามารถดำรงอยู่ได้ ด้วยเหตุปัจจัยหรือองค์ประกอบใด เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ ส่งเสริมพัฒนา หรือศึกษาวิจัยในโอกาสต่อไป
ตำบลหนองบัว ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอบ้านโพธิ์ อาชีพหลักดั้งเดิมของชาวบ้านคือการทำนา ในสมัยที่ยังใช้ควายไถนา อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ไถ คาด ระหัด ชังโลง ลูกทุบ กังหัน และเลื่อน ชาวบ้านมักทำขึ้นใช้เอง นอกจากการทำนาแล้ว การทำประมง เพื่อบริโภคหรือหารายได้เสริม อุปกรณ์การจับสัตว์น้ำ เช่น ตะข้อง รอบ สุ่ม และอีจู้ ชาวบ้านก็ทำขึ้นใช้เองในครอบครัว และเมื่อมีเวลาว่างก็สานเครื่องมือเหล่านี้เพื่อขาย เป็นการหารายได้อีกทางหนึ่ง
ต่อมาเมื่อเส้นทางคมนาคมเปลี่ยนจากทางน้ำ มาเป็นถนนทางบก วิถีชีวิตของชาวบ้านก็เปลี่ยนแปลงพัฒนาไป มีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เลี้ยงปลา แทนการทำนา คนรุ่นใหม่หลั่งไหลเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม แทนการทำงานด้านเกษตรกรรม หรือการประมง ดังเช่นอดีต แต่สิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ก็คืองานจักสานเครื่องมือ เครื่องใช้ ที่คนเฒ่าคนแก่ยังคงสืบทอดการทำอย่างต่อเนื่อง แม้รายได้ไม่สามารถตั้งตัวได้ แต่ก็คุ้มค่ากับการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพชนในด้านงานหัตถกรรมมิให้สูญสิ้นไปจากท้องถิ่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสานอีจู้ เครื่องมือดักปลาไหล ที่ทำสืบเนื่องกันมายาวนานกว่า ๕๐ ปี โดยมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงบ้านทุกเดือน ตลอดทั้งปี จนบางครั้งสานให้ไม่ทันกับจำนวนที่สั่งซื้อ เนื่องจากผู้ประกอบการคือ ผู้สูงวัย และมีจำนวนไม่มาก แต่ความต้องการนั้นแพร่หลายไปตามจังหวัดต่างๆ มิใช่ของที่ระลึก หรือเครื่องประดับตกแต่ง แต่เป็นสิ่งที่ใช้จริงในวิถีชีวิตของผู้คนในการดักปลาไหล
ดังนั้นตราบใดที่ยังมีผู้บริโภคปลาไหล ยังมีผู้ดักจับปลาไหล ยังมีพ่อค้าคนกลางขายเครื่องมือดักจับ ยังมีผู้สานอีจู้ ภูมิปัญญาของท้องถิ่นตำบลหนองบัว ก็ยังคงดำรงอยู่ด้วยเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกัน แต่ถ้าเมื่อใดองค์ประกอบหนึ่งองค์ประกอบใดขาดหายไป ย่อมหมายถึงการสูญสิ้นของภูมิปัญญาท้องถิ่นย่อมขาดหายไปด้วย
วิถีชีวิตของชาวบ้าน หมู่ที่ ๔ บ้านทุ่งช้าง ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ก็เหมือนชีวิตชาวชนบททั่วๆ ไป คือส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาเป็นหลัก เมื่อมีเวลาว่างก็จักสาน หาปลา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ไว้บริโภคหรือประหยัดรายจ่าย และถ้าเหลือจากการบริโภคในครัวเรือนแล้ว ก็จัดจำหน่าย เพื่อเป็นรายได้เสริม และถ้าสิ่งใดที่ทำแล้วสามารถสร้างรายได้มากก็จะทุ่มเทเวลาว่าง ไปสร้างรายได้ทางนั้นเป็นส่วนใหญ่ เช่น การจับสัตว์น้ำขาย หรือการทำเครื่องจักสานขาย เป็นต้น
พื้นที่ตั้งของตำบลหนองบัว มีหนอง คลอง บึง อยู่ทั่วไป การจับสัตว์น้ำเป็นอาชีพเสริม ก็ซื้อขายกันภายในท้องถิ่น เพื่อบริโภคกันในชีวิตประจำวัน แต่การจักสานเครื่องมือดักจับสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นตะข้อง รอบ สุ่ม ตุ้ม หรืออีจู้ นอกจากทำใช้ในครัวเรือนแล้ว ยังมีคนภายนอกที่สนใจมารับซื้อ และทำส่งตลาดในตัวเมืองฉะเชิงเทรา หรือตลาดในตัวเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้คนในชุมชนบ้านทุ่งช้างมายาวนาน นับย้อนได้ราว ๕๐ -๖๐ ปี จวบจนกระทั่งทุกวันนี้ โดยมีอีจู้ เครื่องมือดักปลาไหล ที่พ่อค้าคนกลางสั่งทำและรับซื้อตลอดทั้งปี โดยไม่จำกัดจำนวน
แต่ด้วยมูลเหตุแห่งค่านิยมการประกอบอาชีพของคนยุคใหม่ ต่างมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองหรือเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม โดยมองการทำนาว่าลำบากเสียเวลา มองงานจักสานอีจู้ว่าได้เงินน้อยไม่พอกิน และตั้งตัวไม่ได้ จึงทำให้การสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลหนองบัวนี้ เป็นภาระของผู้สูงอายุที่อยู่บ้านว่างๆ รอผลผลิตจากพืชผลทางการเกษตร และเห็นคุณค่าของเงินค่าตอบแทน ที่พ่อค้าคนกลางนำมาให้ถึงบ้านถ้าไม่เกียจคร้าน อีกทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในการสานคือไม้ไผ่ ก็มีพ่อค้านำมาขายให้ถึงบ้านเช่นกัน นับว่าสุขสบายกว่าคนรุ่นก่อนที่ต้องหาซื้อไม้ไผ่มาจักตอก เมื่อสานเป็นอีจู้ได้จำนวนมากพอแล้ว ก็ต้องใส่เรือพายบรรทุกไปส่งขายในเมือง ทุกวันนี้เพียงแค่ขยันก็สามารถสร้างรายได้ ได้ทุกวัน นับเป็นมุมมองของคนต่างวัยในพื้นที่เดียวกัน
อย่างไรก็ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นงานหัตถกรรมเครื่องจักสานอีจู้ ที่ตำบลหนองบัวนี้ ยังคงอยู่ได้อีกนาน และวันข้างหน้าเมื่อคนหนุ่มคนสาวมีอายุมากขึ้น การดิ้นรนต่อสู้ชีวิตในสังคมเมืองจะผลักดันให้กลับไปใช้ชีวิตอย่างสุขสงบที่บ้าน เมื่อนั้นพอมีเวลาว่าง ภูมิปัญญาท้องถิ่นก็จะถูกสืบสานจากผู้สูงอายุรุ่นปัจจุบันอย่างไม่ขาดช่วง
อีจู้หรือกระจู้ เป็นเครื่องมือดักปลาไหล ที่สานด้วยไม้ไผ่รูปร่างคล้ายขวดคอสูง ส่วนก้นและตัวกลมป่อง ส่วนคอเรียว ปากบาน มีงาแซง คือส่วนที่ทำเป็นซี่ ๆ ปลายสอบเข้าหากันเป็นทางเข้าของปลา และกันไม่ให้ปลาที่เข้าไปแล้ว ย้อนกลับออกมาได้ อยู่ที่ริมก้นของตัวอีจู้ การดักจะใช้เหยื่อซึ่งอาจจะเป็นหอยโข่งนาทุบ ปูตายทุบแหลก หรือเศษปลาเน่าใส่ไว้ในส่วนที่เรียกว่า รองหรือกะพล้อ ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ขัดห่างๆ เป็นรูปทรงกระบอกใส่ไว้ภายในตรงปากอีจู้ สามารถถอดเข้าออกได้
งานสานอีจู้ของตำบลหนองบัว มีการทำกันมานานกว่า ๕๐ ปีแล้ว โดยเริ่มที่คุณยายสาย ทองใบ ชาวบ้านทุ่งช้าง ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ใช้เวลาว่างจากงานเกษตรกรรม สานตะข้องขายแก่พ่อค้าในตัวเมืองฉะเชิงเทรา และเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี กระทั่งมีตาตุ๊ พ่อค้าเมืองฉะเชิงเทราได้เอาอีจู้ให้คุณยายสายกลับไปลองทำดู ปรากฎว่าสามารถทำตามต้นแบบได้ จึงมีการสั่งทำและให้นำไปส่งขายนับแต่นั้นมา
การทดลองทำอีจู้ลูกแรกของคุณยายสาย ทองใบ ในครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลหนองบัวในงานหัตถกรรมเครื่องจักสานอีจู้ เพราะหลังจากนั้นก็มีชาวผู้สนใจมาเรียนรู้ และสานขายกันเป็นที่แพร่หลายในท้องถิ่น จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เมื่อถนนเข้าถึงชุมชนพ่อค้าคนกลางก็เข้ามารับซื้อไปจัดจำหน่ายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ผู้ประกอบการแต่ละครัวเรือนจะมิได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนจากหน่วยงานใด ให้เป็นธุรกิจชุมชน หรือกลุ่มแม่บ้านงานสานอีจู้ ต่างยังคงใช้เวลาว่าง ซื้อลำไม้ไผ่ที่พ่อค้านำมาขายถึงบ้าน จักเป็นตอก สานเป็นอีจู้ อยู่ที่บ้านใครบ้านมัน แล้วนำมาฝากรวมขายที่บ้านป้าสุพร ทองใบ ลูกสะใภ้คุณยายสาย ทองใบ ที่บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๔ บ้านทุ่งช้าง ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ๒๔๑๔๐ หรือที่บ้านป้ามณี หมอกเจริญ หมู่ที่ ๓ บ้านดอนสีนนท์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน
ขั้นตอนการสานอีจู้
อีจู้ประกอบด้วยส่วนต่างๆ คือ ตัวอีจู้ งาแซง หรืองาข้าง และรองหรือกะพล้อ
การสานตัวอีจู้ เริ่มจากการสานก้นให้มีขนาดกว้าง ๒๐ เซนติเมตร จากนั้นตั้งเส้นตอกสานเป็นตัวอีจู้ด้วยตอกเส้นนอนให้มีลักษณะกลมป่องตอนกลาง แล้วเรียวคอดคล้ายคอขวดตรงคอ จากนั้นนำกะลามาวางเป็นแม่แบบเพื่อสานส่วนปากให้บานออก ความสูงจากส่วนก้นถึงส่วนปากของตัวอีจู้ ประมาณ ๑ เมตร
การสานงาแซง หรืองาข้าง โดยนำเส้นตอกขดเป็นวงกลม เรียกว่าตั้งวงงา จากนั้นนำตอกไม้เสียบตั้งเรียงรอบวงให้ปลายสอบเข้าหากันเป็นรูปกรวย เรียกขั้นตอนนี้ว่าเสียบงา แล้วจึงนำเส้นตอกสานแนวนอนรัดร้อยไม้ตอกแนวตั้งเข้าด้วยกันให้เหลือปลายกรวยไว้เป็นทางเข้าของปลา ขั้นตอนนี้คือการสานงา
การสานรองหรือกะพล้อ เริ่มจากการสานก้นขนาด ๘ เซนติเมตร แล้วตั้งเส้นตอก สานขัดกันเป็นรูปทรงกระบอก จากนั้นนำกะลามาวางเป็นแม่แบบเพื่อสานส่วนปากให้บานออก ความสูงจากส่วนก้นถึงส่วนปากของรอง หรือกะพล้อ ประมาณ ๕๐ เซนติเมตร
เมื่อสานเสร็จก็เจาะริมก้นตัวอีจู้ ยัดงาแซงใส่เข้าไป แล้วใช้ไม้เหลาเสียบยึดกับตัว แล้วเอารองหรือกะพล้อใส่ลงไปทางปาก แล้วเสียบยึดไว้ สุดท้ายนำเอาอีจู้ที่สำเร็จไปลนควันไฟ เพื่อไม่ให้มีเสี้ยนขุยไม้และกันมิให้มอดกินเนื้อไม้อีกทางหนึ่ง
อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีคำขวัญของอำเภอที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของพื้นที่ว่า“แดนแห่งคลอง สองฝั่งบางปะกง ดงกุ้ง ปลา ไก่ไข่ ขนมไทยเผยแพร่ แห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำ” จะเห็นได้ว่าอำเภอนี้มีแม่น้ำบางปะกงไหลผ่าน และมีคลอง หนองบึง อยู่ทั่วไปทั้งสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ คือสัตว์น้ำ อันได้แก่ กุ้ง ปลา ตลอดจนมีวัฒนธรรมความเชื่อที่ถือเป็นประเพณีสืบต่อมายาวนาน คือ การแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำมาที่อำเภอนี้
ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่หนึ่งตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง มีแหล่งน้ำและทรัพยากรทางธรรมชาติอยู่ทั่วไป ทำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นนอกจากประกอบอาชีพเกษตรกรรมแล้วยังทำประมง เพื่อบริโภคและขายเป็นรายได้เสริม โดยทำเครื่องมือเครื่องใช้ในการดักจับสัตว์น้ำเองหลากหลายรูปแบบ อีจู้ก็เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่มีการทำใช้ ทำขายกันมายาวนาน ๕๐ กว่าปี
อีจู้ดักปลาไหล เป็นสิ่งที่บ่งบอกเรื่องราวทางภูมิปัญญาด้านต่างๆ ที่แฝงเร้นได้เป็นอย่างดี นับตั้งแต่ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติทั้ง กุ้ง ปู ปลา หลากหลายชนิด มีมากจนให้เลือกบริโภคได้ว่าจะกินชนิดใด ก็สร้างเครื่องมือขึ้นมาดักจับเฉพาะชนิดที่ต้องการ อีจู้สร้างขึ้นมาดักจับเฉพาะปลาไหลส่วนปลาอื่นๆ ก็เก็บรักษาไว้เพื่อจับบริโภคในโอกาสต่อไป ด้วยเครื่องมือชนิดอื่น ซึ่งนอกจากอีจู้แล้ว ยังมีเครื่องมือดักจับปลาไหลอีกชนิดหนึ่ง คือ ลัน ทำให้เห็นว่าปลาไหลเป็นที่นิยมบริโภคกัน จนผู้คนในอดีตต่างคิดสร้าง เครื่องมือดักจับกันมาในรูปแบบต่างๆ ดังที่ปรากฎ
นอกจากบ่งชี้ให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณธรรมทางการบริโภค ที่ประสงค์เฉพาะสิ่งใดก็เลือกเฉพาะสิ่งนั้น ไม่กระทบถึงสิ่งแวดล้อมอื่น ไม่ทำลายคลุมไปหมดดังเช่นปัจจุบัน อีกทั้งยังบ่งชี้ให้เห็นถึงการทำความเข้าใจในธรรมชาติของผู้คนในอดีตเป็นอย่างดี จากองค์ประกอบของอีจู้คือ ส่วนที่เรียกว่า รองหรือกะพล้อ ไว้ใส่อาหารหรือเหยื่อล่อ คือตัวบ่งชี้ความเข้าใจในธรรมชาติ ของปลาไหลว่าชอบอะไร ส่วนที่เป็นงาข้างหรืองาแซง ซึ่งเป็นช่องทางเข้าของปลาไหลนั้น จะต้องวางตุ้มให้งาแซงอยู่ในระดับพื้นดินใต้น้ำ เพราะปลาไหลอาศัยอยู่ในโคลนเลน เมื่อได้กลิ่นเหยื่อจะหาทางเข้าไปกิน คือเข้าช่องงาแซงนั้น และการดักปลาไหล จะดักในน้ำนิ่งตามริมหนอง คลอง บึง หรือตามแปลงนา ความลึกของน้ำไม่มาก ต้องให้ส่วนปลายปากอีจู้โผล่พ้นน้ำ เพราะปลาไหลจะขึ้นไม่ได้ ที่สำคัญกะพล้อใส่เหยื่อจะกันไม่ให้ปลาไหลกินเหยื่อได้ ทำให้เหยื่อไม่หมด ปลาไหลตัวอื่นๆ จะเข้าไปอีก เช่นนี้คือภูมิปัญญา หรือการเอารัดเอาเปรียบก็สุดจะชี้ชัดได้
ส่วนการสานอีจู้ ที่หมู่ ๓ และหมู่ ๔ ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ในปัจจุบันเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นทางด้านงานฝีมือจักสานอีจู้เท่านั้น คือสานขายแก่พ่อค้าคนกลาง มิใช่ทำใช้ในครัวเรือน ดังนั้นคนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ หากถามวิธีใช้กับคนทำบางทีก็ไม่ได้คำตอบนอกจากรอยยิ้มกับหน้าที่สายไปมา ทำให้อดที่จะยิ้มตามไม่ได้
0 comments