การเขียนฉากลิเก
การเขียนฉากลิเกของ นายเศกสม สุขสว่าง ชาวชุมชนตำบลโสธร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นงานช่างฝีมือพื้นบ้านที่ดำเนินกิจการอาชีพนี้มานานกว่า ๒๐ ปี
ฉากลิเก นับเป็นส่วนประกอบสำคัญของการแสดงลิเก เพื่อให้ดูสมจริงตามเนื้อเรื่องที่แสดงใน
แต่ละตอน เช่น ในท้องพระโรง การเดินทางในป่า และการดำเนินชีวิตตามทุ่งนา ชนบท เป็นต้น ซึ่งจินตนาการสร้างสรรค์ฉากของช่างเขียน ถ่ายทอดผ่านฝีแปรงและปลายพู่กัน ให้เป็นภาพสวยงามตระการตา ตั้งตระหง่านหลังนักแสดง สร้างบรรยากาศให้ผู้ชมเกิดจินตนาการคล้อยตามเนื้อเรื่องที่แสดงนั้นๆ ได้ นับว่าช่างผู้รังสรรค์ฉากเป็นผู้มีบทบาทอยู่เบื้องหลังการแสดงนั้น ช่วยเติมเต็มให้แก่การแสดงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การจัดเก็บข้อมูลงานผลิตภัณฑ์การเขียนฉากลิเกของชาวชุมชนตำบลโสธรนี้ เพื่อบันทึกและแสดงให้เห็นถึง ผู้ที่มีภาพผลงานอยู่เบื้องหลังการแสดงของตัวลิเกคณะต่างๆ แม้สถานภาพทางสังคมของผู้ประกอบการ ไม่สามารถเปรียบกับ ศิลปินหรือจิตรกรตามค่านิยมในสาขางานด้านจิตรกรรมได้ แต่งช่างเขียนภาพระบายสีฉากลิเก ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตนในการแสดงออก จนมักถูกนำไปอุปมาอุปไมยเปรียบเปรยกับงานจิตรกรรมด้วยคำว่า ภาพที่วาดสีที่ระบายคล้ายฉากลิเก หรือภาพนี้ดูลิเกจริงๆ เป็นต้น
ลักษณะหรือเอกลักษณ์ของภาพฉากลิเก ประสบการณ์การเรียนรู้ ทักษะประสบการณ์ของช่าง ประวัติความเป็นมาของส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งมวล ล้วนนับเป็นจุดหมายของการจัดเก็บข้อมูลนี้
ลิเก เป็นมหรสพของชาวบ้าน มีจุดกำเนิดมาจากการสวดบูชาของพวกมุสลิม ต่อมาพวกคนไทยที่สนใจในการแสดงนี้ได้เลียนแบบและพลิกแพลงการแสดง โดยคิดการสวดให้แปลกหูแปลกตาไกลออกจากเรื่องศาสนา มาเป็นเรื่องของความบันเทิง จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นอาชีพหนึ่งของการแสดงไปในที่สุด
ฉากลิเก เป็นสิ่งที่จะพบเห็นควบคู่ไปกับการแสดงลิเก เพราะฉากลิเกเป็นสีสันที่ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการแสดงนั้น ให้ดูสมจริงในแต่ละฉากแต่ละตอนที่แสดง
ช่างเขียนฉากลิเก ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับอาชีพการแสดงลิเก แต่ช่างเขียนฉากคือผู้ที่อยู่เบื้องหลัง มิได้ออกไปปรากฏตัวบนเวทีเหมือนนักแสดง จึงมีน้อยคนที่ดูลิเกจะรู้หรือสนใจว่า ฉากเบื้องหลังนักแสดงนั้นสร้างขึ้นโดยใคร แม้ฉากจะได้รับความชื่นชมจากคนดู นักแสดง หรือเจ้าของคณะลิเกมากเพียงใด ความนิยมนั้นก็ไม่อาจส่งผลให้ช่างเขียนฉากกลายเป็นศิลปินหรือจิตกรในวงการศิลปะไปได้
นับวันช่างเขียนฉากอาชีพมีจำนวนน้อยลง เพราะขาดการส่งเสริม ขาดการสืบสานจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งลิเกที่เคยเป็นความนิยมของชาวบ้านในอดีต กำลังถูกมองว่าเป็นมหรสพที่ตกยุคล้าสมัยในปัจจุบัน นั่นเท่ากับเป็นผลกระทบถึงฉากและช่างเขียนฉากด้วย และที่สำคัญเทคโนโลยีเครื่องจักรกลด้านการพิมพ์กำลังทำให้ความนิยมด้านงานผีมือลดน้อยลง ฉากลิเกที่ผลิตด้วยเครื่องจักรกำลังทำให้อาชีพช่างฝีมือเขียนฉากจะตกงาน
หากไม่รีบหาทางแก้ไข ในไม่ช้าช่างฝีมือเขียนฉากลิเกคงเหลือเพียงข้อมูลให้ได้เรียนรู้ว่า อดีตที่ผ่านมาเราเคยมีสิ่งดีๆ เหล่านี้ในท้องถิ่นบ้านเมืองเรา
การเขียนฉากลิเก เป็นจินตนาการสร้างสรรค์ เป็นภูมิปัญญาช่างที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดผ่านสื่อวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ด้วยทักษะความชำนาญ ให้เป็นรูปร่างทรงมีสีสัน บรรยากาศ เป็นเนื้อหาเรื่องราวต่างๆ บนผืนผ้าขนาดกว้างใหญ่ที่เรียกว่า ฉากลิเก
การถ่ายทอดจินตนาการให้ออกมาเป็นรูปทรงได้นั้น ย่อมมีขั้นตอนที่เป็นภูมิรู้ภูมิปัญญาแฝงเร้นอยู่ทุกขั้นตอน และอารยธรรมทางปัญญานี้ก็ถูกถ่ายทอดด้วยเทคนิควิธีต่างๆ จากบุคคลสู่บุคคล จากรุ่นสู่รุ่น ดำรงสืบทอดให้ปรากฏเห็นอยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะมีผู้สนใจและรักศิลปะวิทยาสาขาการเขียนฉากลิเกนี้อยู่
แต่ในปัจจุบันอาชีพช่างเขียนฉากลิเก มิได้ถูกยกระดับให้เทียบเท่าศิลปินหรือจิตรกรผู้ประกอบอาชีพสร้างงานจิตรกรรม ฉากลิเกก็ดูเป็นเพียงภาพวาดระบายสีมิใช่งานวิจิตรศิลป์ มิใช่งานจิตรกรรมที่แท้จริง ทั้งๆ ที่ฉากลิเกก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีประวัติศาสตร์แห่งความเป็นมา มีวิวัฒนาการ มีบทบาทหน้าที่เฉกเช่นภาพเขียนสีอื่นๆ แต่ความสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้จากผู้สนใจในศิลปะนั้นน้อยยิ่ง แม้แต่ในสถาบันสอนศิลปะก็ไม่เคยมีหลักสูตรการสอนวิชาที่ว่าด้วยจิตรกรรมด้านฉากลิเก ความรู้นี้จึงเป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สืบทอดสอนต่อกันเองผ่านทายาททางสายเลือด หรือทายาทที่มีใจรักในสิ่งเดียวกัน
ทำให้นับวันช่างฝีมือแขนงนี้กำลังจะสูญไปจากท้องถิ่น การศึกษาเก็บข้อมูลนี้ก็เพื่อจุดประสงค์สำคัญ คือ
๑. ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของลิเก
๒. ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของฉากลิเก
๓. เพื่อศึกษาวิเคราะห์บริบทของช่างเขียนฉากลิเกท้องถิ่น นายเศกสม สุขสว่าง ชาวชุมชน
ตำบลโสธร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ลิเก
การแสดงลิเกแต่เดิมเรียกว่า ดจิเก เป็นการสวดบูชาพระอัลล่าห์ ของพวกมุสลิมนิกายซิอิทหรือเจ้าเซ็น แพร่หลายเข้ามาในเมืองไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามการอพยพของพวกมุสลิมนิกายนี้จากเปอร์เซียหรืออิหร่าน
ครั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ มีหลักฐานบันทึกว่า ชาวไทยมุสลิมในกรุงเทพฯ ได้ร่วมกันแสดงลิเกถวายหน้าพระที่นั่ง เนื่องในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล พระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
(พระนางเรือล่ม) ซึ่งเป็นการแสดงตามแบบแผนดั้งเดิมทางศาสนาอิสลาม โดยสวดเป็นลำนำตามตำรา ประกอบเข้ากับจังหวะรำมะนา
คนไทยสมัยนั้นชอบใจและได้สวดเลียนแบบ ต่อมาลิเกสวดแขกตามแบบแผนดั้งเดิม ได้ถูกพลิกแพลงการแสดงออกเป็น ๒ แนว ได้แก่ แนวที่เรียกว่า ละกูเยา เป็นการแสดงว่ากลอนด้นแก้กัน เชือดเฉือนกันด้วยคารมรุนแรง อันเป็นที่มาของลิเกลำตัดหรือลำตัด ส่วนอีกแนวหนึ่งเรียกว่า ฮันดาเลาะ เป็นการแสดงละครชุดสั้นประกอบเพลง ต่อมาได้พัฒนาเป็นลิเกบันตน ลิเกลูกบท และลิเกทรงเครื่อง ตามลำดับ
ลิเกดังที่กล่าวมานี้ มีลักษณะคล้ายลิเกที่ยังคงแสดงกันอยู่ทางภาคใต้ของไทย - ปัจจุบัน คือ
ลิเกฮูลู ที่ใช้ภาษาสูงในการแสดง และลิเกบารัตที่ใช้ภาษาง่ายๆ และเต็มไปด้วยการตลกโปกฮา
ในกรุงเทพฯ ลิเกเป็นมหรสพที่ชาวบ้านให้ความนิยมกันมาก นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ลิเกได้ขยายไปสู่ชนบท โดยมีคณะลิเกเร่ออกไปเล่นตามต่างจังหวัด เรื่องที่เล่นก็แปรไปเป็นนิทานพื้นบ้านบ้าง นำไปผสมกับการละเล่นพื้นเมืองบ้าง ทำให้เกิดความนิยมลิเกขึ้นตามต่างจังหวัด จนชาวบ้านพื้นเมืองพากันจัดตั้งคณะลิเกของตนขึ้น ยึดถือการแสดงเป็นอาชีพ และพัฒนาปรับปรุงจนเป็นมหรสพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของแต่ละจังหวัด
สิ่งสำคัญที่ทำให้ลิเกยืนยงมาได้ตลอดก็คือ ลักษณะและค่านิยมแบบไทย และมีอิสระในการแสดง ทำให้สามารถผสมผสานเข้ากันได้กับสังคมทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน
ฉากลิเก
ฉาก คือ เครื่องบังหรือกั้น หรือเป็นเครื่องประกอบเวทีการแสดง เพื่อสร้างบรรยากาศให้ดูสมจริงตามเนื้อเรื่องที่แสดงนั้นๆ เช่น ฉากป่า ฉากเมือง เป็นต้น
ลิเกที่แสดงตามแบบแผนดั้งเดิมทางศาสนาอิสลาม ที่เรียกว่า ดจิเก นั้น จะเล่นบนลานดินหรือบนเวทียกพื้น ไม่มีฉาก ครั้นมีการพลิกแพลงการแสดงมาเป็นเรื่องราวอย่างละครชุดสั้นๆ ที่เรียกว่า
ลิเกบันตน ลิเกลูกบท และลิเกทรงเครื่องแล้ว ฉากก็เริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการแสดง เพื่อบัง กั้นแบ่งพื้นที่เวทีการแสดงนั้นออกเป็นสัดส่วนให้เหมาะสมสอดคล้องกับการใช้งาน
ฉากลิเกแต่เริ่มแรกเป็นเพียงผ้าม่านเรียบๆ ขึงกับเวทีเป็นหน้าโรงและในโรง มีประตูเข้า-ออก ที่ด้านข้าง ต่อมาภายหลังจึงสร้างฉากที่เขียนเป็นภาพ ประกอบการแสดงให้ดูสมจริง สันนิษฐานว่าน่าจะได้อิทธิพลมาจากฉากงิ้วตามโรงบ่อน ที่ลิเกแสดงสลับอยู่นั้นมาเป็นแบบอย่าง
ฉากลิเกที่มีการเขียนภาพระบายสี จึงมิใช่เป็นเพียงเครื่องกั้นแบ่งเวทีแต่เพียงอย่างเดียว กลับช่วยสร้างบรรยากาศและสถานที่ในการแสดงนั้น ให้คนดูเข้าใจและรู้สึกสมจริงตามเนื้อเรื่องที่แสดง ยิ่งในปัจจุบันเวทีการแสดงได้พัฒนาส่วนประกอบด้านแสง สี และเสียงให้ดูตระการตาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีการเล่นแสงอุลตราไวโอเลตหรือแสงสีม่วง ทำให้ฉากลิเกมีการใช้สีสะท้อนแสงเข้ามาประกอบ เพื่อสร้างมิติการมองให้ดูสมจริงยิ่งขึ้น และช่วยขับเน้นให้ตัวผู้แสดงดูเด่นเมื่อเปิดแสงดังกล่าว ทำให้กระตุ้นเร้าความสนใจของผู้ดูได้มากยิ่งขึ้น
ช่างเขียนฉากลิเก
งานเขียนฉากลิเกเป็นงานช่างฝีมือทางด้านจิตรกรรม ที่เรียกวิธีการสร้างงานนี้เรียกว่าเป็นการเขียนภาพระบายสี
การเขียนภาพระบายสี อาจสร้างสรรค์ภาพผลงานได้หลากหลายระดับ นับตั้งแต่งานจิตรกรรมที่ล้ำค่า จนถึงงานเขียนป้าย เขียนฉาก และเขียนภาพประดับรถสองแถว รถสิบล้อ ที่ดูเป็นงานที่ต่ำต้อยด้อยค่านิยม ซึ่งโดยทั่วไปช่างเขียนภาพหรือจิตรกร จะได้รับการถ่ายทอดความรู้จากแหล่งการศึกษา อาจเป็นจากสถาบันการศึกษาด้านศิลปะโดยตรง หรืออาจเป็นเพียงสถานประกอบการอาชีพของท้องถิ่น
ช่างเศกสม สุขสว่าง ได้รับความรู้ด้านการเขียนฉากลิเกจากแหล่งความรู้ที่มิใช่สถานศึกษา เขาเกิดเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๙ ที่จังหวัดชลบุรี หลังจบการศึกษาชั้น ป.๔ ก็ออกมาจับงานด้านการแสดงด้านหนังตะลุง โขนสด และลิเกเป็นอาชีพ ในคณะการแสดงของ นายนิยม สุขสว่าง ผู้เป็นบิดา คือคณะ “เศกสมนิยมศิลป์” ที่เอาชื่อตนเองและบิดาตั้งเป็นชื่อคณะให้โดยอดีต เจ้าอาวาส วัดพุทธิรังษี
นอกจากแสดงอยู่ในคณะของบิดาแล้ว ยังเป็นนักแสดงรับจ้างอิสระที่คณะใดก็สามารถว่าจ้างให้เข้าร่วมแสดงได้ กระทั่งมี
นายประสิทธิ์ ขาวสะอาด เจ้าของคณะลิเก “ป.วิจิตรกร” ซึ่งเป็นชาวคณะจังหวัดสระบุรี ได้ว่าจ้างให้เข้าร่วมแสดงในคณะ เมื่อว่างจากการแสดงลิเก นายประสิทธิ์ก็สอนให้เรียนรู้เรื่องการเขียนฉากลิเก เพราะเขาเป็นช่างเขียนฉากลิเกด้วย ฝึกฝนเรียนรู้ได้ระดับหนึ่งจึงกลับมาตั้งตัวที่บ้านเลขที่ ๘/๗ หมู่ ๖ ตำบลโสธร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา รหัสไปรษณีย์ ๒๔๐๐๐
โดยสืบทอดรับผิดชอบคณะหนังตะลุง โขนสดและลิเกต่อจากบิดา คือ คณะเศกสมนิยมศิลป์ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนอกจากรับงานด้านการแสดงต่างๆ แล้ว ยังรับจ้างเขียนฉากลิเกอีกทางหนึ่งด้วย จากปากต่อปากและจากผลงานที่ปรากฏมีคณะลิเกจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศได้ว่าจ้างให้เขียนฉากมาตลอด โดยมีบุตรทั้ง ๕ คือ นายนเรศ, นายปิยะ, นางสาวสุทธิษา, นายจิราวุฒิ, และนายคมสันต์ สุขสว่าง เป็นผู้ช่วย และรับสืบทอดความรู้ทั้งทางด้านการแสดงและการเขียนฉากลิเกมาตลอด
ขั้นตอนการเขียนฉากลิเกของช่างเศกสม สุขสว่าง มีดังนี้
๑. ขั้นออกแบบ หลังรับการว่าจ้างจะออกแบบรูป แสดงเนื้อหา
เรื่องราว ตามจุดประสงค์ของผู้ว่าจ้าง ว่าเป็นฉากในรูปแบบใด ซึ่งบางทีผู้ว่าจ้างจะกำหนดเจาะจงว่าเอารูปแบบแบบใด
๒. ขั้นเตรียมวัสดุอุปกรณ์ คือ การเตรียมผ้ามาเย็บต่อให้ได้ขนาดตามที่กำหนด การขึงผ้าให้ตึง
การเตรียมเครื่องมือในการร่างภาพและระบายสี
๓. ขั้นปฏิบัติการ จะเริ่มร่างภาพลายเส้นเป็นรูปตามที่ออกแบบไว้ จากนั้นก็จะลงสีในส่วน
ต่างๆ ตามเส้นโครงที่ร่างไว้ แล้วจึงตัดเส้นตกแต่ง ให้ภาพเด่นชัดขึ้น
หลังเสร็จสิ้นการสร้างงานก็จะรอจนสีแห้ง จึงพับม้วนฉากสำเร็จเก็บส่งให้แก่ผู้ว่าจ้าง เพื่อนำไปใช้ประกอบในการแสดงต่อไป ซึ่งฉากลิเกที่วาดในช่วงแรกๆ จะมีการลงชื่อ เพื่อให้ผู้ดูรู้ถึงแหล่งที่มา แต่ระยะหลังไม่ลงชื่อ เพราะคิดว่าตนเป็นที่รู้จักของวงการนี้แล้ว การลงชื่อจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป ที่อยู่ก็อยู่ที่เดิม เพียงแต่เพิ่มเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้สะดวกขึ้น คือ เบอร์บ้าน ๐๓๘-๘๑๓-๓๔๒ และเบอร์มือถือส่วนตัว ๐๘๑-๕๗๕-๔๘๘
ในภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้ของช่างเขียนฉากลิเก อาจแยกเป็นลำดับเพื่อความเข้าใจดังนี้
๑. ด้านความรู้ ช่างต้องมีความรู้ในด้านการออกแบบ โดยการ
จินตนาการและคิดสร้างสรรค์รูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหาเรื่องราวของการแสดง ทั้งโครงสร้างภาพโดยรวมและรายละเอียดตกแต่งในโครงสร้างภาพ ช่างเศกสม สุขสว่าง มีความรู้พื้นฐานด้านการแสดงลิเกมาก่อนทำให้เข้าใจในสารัตถะของฉากลิเก และจิตวิญญาณของลิเก ทำให้สามารถสร้างจินตนาการภาพสู่การออกแบบฉากได้อย่างเหมาะสมกับการนำไปใช้ ทำให้เป็นที่นิยมของลิเกคณะต่างๆ ทั่วประเทศ
๒. ด้านทักษะ ความคิดและจินตนาการนั้นมีอยู่ในทุกคน แต่การถ่ายทอดความคิดและ
จินตนาการ ให้ได้ตรงกับที่คิดนั้นเป็นสิ่งที่ยากหากมิได้รับการฝึกฝน จนเกิดเป็นทักษะและความชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน หรือการวาดภาพ ระบายสี ช่างเขียนฉากลิเกต้องเรียนรู้และฝึกฝนวิธีใช้เครื่องมือ คือ ดินสอ แปรง พู่กัน สี ฯลฯ ในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน จนถึงขั้นได้ดั่งใจจึงถือว่ามีทักษะ ความชำนาญ
๓. ด้านหลักทฤษฎี แม้ช่างเศกสม จะได้รับการถ่ายทอดความรู้จากสถานประกอบการด้วย
การปฏิบัติก่อน แล้วค่อยๆ แนะนำให้ปรับปรุงแก้ไข ให้จดจำไว้เป็นหลักปฏิบัติ ซึ่งต่างจากสถานศึกษาที่สอนหลักเกณฑ์ทฤษฎีก่อน แล้วจึงให้ลงมือปฏิบัติ แต่หลังจากปฏิบัติมาเป็นเวลายาวนานกว่า ๒๐ ปี ทักษะความชำนาญจากการปฏิบัติ ได้ตกผลึกสรุปเป็นทฤษฎีความรู้ต่างๆ ที่ช่างเศกสมถ่ายทอดให้แก่บุตรทั้ง ๕ ได้แก่ ความรู้เรื่องหลักการเขียนภาพ หลักการจัดองค์ประกอบ หลักทางทัศนียวิทยา หลักการใช้สี กายวิภาครูปร่างรูปทรงของสิ่งต่างๆ ฯ ซึ่งหลักทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้ เกิดจากการสรุปประสบการณ์เป็นภูมิรู้ด้วยตนเอง
๔. เอกลักษณ์ของช่าง ในช่วงแรกหลังเสร็จสิ้นการเขียนฉากลิเก ช่างเศกสมจะลงลายมือชื่อ
ในผลงาน เพื่อให้ผู้ชมรู้ว่าเป็นฝีมือของตน แต่ระยะหลัง ไม่ลงลายมือชื่อกำกับในผลงาน ด้วยเหตุผลเฉพาะตัวว่า คนในแวดวงลิเกส่วนมากเมื่อเห็นฉากที่ตนทำออกไป ปัจจุบันสามารถรู้ได้ทันทีว่าเป็นของตนทั้งนี้เนื่องจากฉากที่ทำ มีลักษณะเฉพาะตัวต่างไปจากของช่างอื่น คือ การใช้สีที่สดใส สะท้อนแสง ลวดลายมีความละเอียด ประณีต เป็นต้น
๕. เอกลักษณ์เฉพาะของฉากลิเก ฉากลิเก แม้จะมีลักษณะเป็นงานจิตรกรรม แต่ก็ไม่ใช่งาน
จิตรกรรม เนื่องจากลักษณะเฉพาะของฉากลิเก มิใช่ภาพเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ในตัวเอง แต่จะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อถูกนำไปจัดประกอบร่วมกับการแสดง ฉากลิเกเป็นภาพวาดที่มีจุดสนใจอยู่นอกภาพ อันได้แก่ตัวลิเก เนื้อหาในภาพจะทำหน้าที่นำสายตาผู้ดูไปยังจุดสนใจ และพาความรู้สึกคนดูให้ขับเคลื่อนไปกับการร้องรำ ทำให้ฉากเกิดสีสัน บรรยากาศ คล้ายมีชีวิตที่กลมกลืนไปกับการแสดงนั้น ฉากลิเกจึงเน้นเพียงภาพพื้นหลัง ที่มีนักแสดงเป็นหัวใจหรือจุดสนใจของภาพ ต่างจากงานจิตรกรรมที่มีจุดสนใจในภาพ
๖. ลักษณะต่างของช่างเขียนกับจิตรกร จิตรกรทีสร้างสรรค์งานจิตรกรรม จะพยายาม
หลีกเลี่ยงการใช้สี ลวดลาย และรูปลักษะที่ดูแล้วเป็นฉากลิเก แต่ช่างเขียนฉากลิเกต้องสร้างฉากที่ไม่ใช่งานจิตรกรรม นั่นคือการใช้สีของจิตรกรมิใช่แบบเขียนฉากลิเก และการใช้สีของช่างเขียนฉากลิเกก็ไม่ใช่แบบสร้างงานจิตรกรรม และที่สำคัญฉากลิเกที่วาดโดยช่างเขียนฉากหรือโดยตัวลิเกย่อมสามารถสร้างจิตวิญญาณในภาพ ให้มีชีวิตที่กลมกลืนไปกับการแสดงได้มากกว่าฉากลิเกที่วาดโดยจิตรกรหรือศิลปินด้านจิตรกรรม นี่คือข้อแตกต่างที่น่าจะมีการศึกษาเปรียบเทียบ หรือวิจัยหาเอกลักษณ์อันเป็นลักษณะเฉพาะเหล่านี้ เพราะคนทำงานจิตรกรรมถ้ามาวาดฉากลิเกก็ได้เพียงแต่ภาพ แต่จะขาดจิตวิญญาณแห่งลักษณะเฉพาะของลิเกอย่างแน่นอน
๗. ข้อสรุป ทักษะความรู้หลักทฤษฎีตลอดจนเอกลักษณ์ของช่างเศกสม สุขสว่าง เหล่านี้ แม้
จะถ่ายทอดให้กับบุตรทั้งห้า ก็เป็นแต่เพียงวาจา ที่มิได้จดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร วันหนึ่งข้างหน้าภูมิรู้เหล่านี้ย่อมสูญหายไปกับกาลเวลาอย่างแน่นอนอีกทั้งปัจจุบันผลกระทบจากการแสดงลิเกได้รับความนิยมจากคนดูน้อยลงทำให้งานเขียนฉากลดลง และการพิมพ์ผ้า vinyl กำลังเป็นที่นิยมของผู้คนในวงการต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งคณะลิเก ทำให้ช่างฝีมือไม่สามารถต้านกระแสงานพิมพ์ด้วยเครื่องจักรได้ งานเขียนฉากก็ลดลงอีกทางหนึ่ง
แม้ทัศนะมุมมองของช่างเศกสม ที่มีความเห็นว่า “ลิเกจะไม่มีวันหมดไปจากสังคมไทย ตราบใดที่วัดยังจัดงาน เพราะงานวัดถ้าไม่มีลิเกก็จะไม่มีคนแก่ออกมาดู และจะไม่มีคนทำบุญให้กับวัดเพราะคนทำบุญเป็นคนแก่ที่ยังชอบดูลิเก” หรือ “งานเขียนฉากลิเกแม้จะมีระบบการพิมพ์เข้ามาตีตลาด แต่ภาพที่พิมพ์นั้นดูแล้วไม่มีชีวิต ต่างจากภาพที่วาดด้วยฝีมือคน แม้งานจะลดลงแต่ก็ยังมีผู้ว่าจ้างที่เห็นคุณค่าความแตกต่างของงานนี้ มาให้วาดฉากอยู่” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาชีพภูมิปัญญาด้านการเขียนฉากลิเกจะยังไม่หมดหรือสูญหายไปในช่วงเวลานี้
แต่ถ้าในวันหนึ่งช่างหรือผู้สืบทอดหมดไป จะเหลืออะไรให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่าชุมชนโสธร
จังหวัดฉะเชิงเทรา เคยมีช่างเขียนฉากลิเกปรากฏอยู่
0 comments