ภูมิปัญญาไทย.com

ภูมิปัญญาไทย

ช่างแกะสลักหินอ่างศิลา (ทำครก)



  
 การแกะสลักหินอ่างศิลาหรือภาษาช่างพื้นถิ่นที่นี่เรียกว่า  “ตีหิน”  เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีของประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะ  “การตีครก”  หรือ  “การแกะสลักครก  ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านดั้งเดิมของอ่างศิลามาแต่ครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา  และมีชาวบ้านในหลายครัวเรือนได้ใช้เวลาว่างจากการทำประมงมาตีหินทำครกเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง  หรือมีอีกหลายครัวเรือนได้หันมาประกอบอาชีพตีหินนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน
    นายขจร  รุ่งเรืองศิลาทิพย์  เจ้าของร้านรุ่งเรืองศิลาทิพย์เป็นช่างตีหินทำครกอีกผู้หนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้เชิงช่างแกะสลักครกหินมากจากบิดา  (นายไฮ้  แซ่ลี้)  และได้ใช้ภูมิรู้นี้ในการประกอบอาชีพมากว่า  ๑๐  ปี  พร้อม  ๆ  ไปกับฝึกฝนช่างรุ่นใหม่  ๆ  ให้มีการเรียนรู้กรรมวิธีงานช่างทำครกหินให้แพร่หลายออกไป  อันจะเป็นการช่วยอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาเชิงช่างแขนงนี้ไม่ให้สูญหายไปก่อนเวลาอันควร
    ปัจจุบันการแกะสลักหินของนายขจร  รุ่งเรืองศิลาทิพย์ไม่จำกัดเฉพาะการแกะสลักครกหินเท่านั้น  หากแต่มีการแกะสลักเป็นรูปทรงต่าง  ๆ  อีกหลายแบบได้แก่  สิงโตหิน  ช้างหิน  โต๊ะหิน  เจ้าแม่กวนอิม  และแกะสลักเครื่องตกแต่งสวนทำด้วยหินเป็นรูปต่าง  ๆ  เป็นต้น  โดยผลิตภัณฑ์จากหินรูปแบบใหม่ค่อนข้างจะได้รับความสนใจจากลูกค้า  และทำกำไรได้ดีกว่าการแกะสลักครกเดิม  จึงมีผลให้นายขจร  รุ่งเรืองศิลาทิพย์ ต้องหันไปพัฒนาการแกะสลักหินรูปแบบใหม่ให้เป็นทางเลือกของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น  ส่วนกรณีผลของการจัดเก็บข้อมูลในครั้งนี้จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นฐานข้อมูลและองค์ความรู้ด้านการแกะสลักหินอ่างศิลา  (ตีหิน)  ให้มีระบบระเบียบตามกระบวนการจัดเก็บรวบรวมที่ชัดเจน  ให้ผู้สนใจสามารถค้นคว้าศึกษาได้สะดวกรวดเร็วพร้อมไปกับช่วยอนุรักษ์งานช่างฝีมือพื้นบ้านไม่ให้สูญไป


    การแกะสลักหินอ่างศิลา  เป็นภูมิปัญญางานช่างที่มีจุดกำเนิดบริเวณแหลมแท่น  ตำบลแสนสุข  อำเภอเมืองชลบุรี  จังหวัดชลบุรี  (แต่เดิมเรียกว่าตำบลบางพระ)  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   (รัชกาลที่  ๔)     เมื่อครั้งพระศิลาการวิจารณ์มาทำศิลาในการพระพุทธรัตน
สฐานที่แหล่มแท่น  โดยได้อาศัยการสกัดหินแกรนิตตรงโขดหินบริเวณชายหาดออกเป็นก้อน  ๆ  แล้วจึงขนย้ายเข้ากรุงเทพฯ  การทำหินในครั้งแรกนั้นจะเป็นการสกัดหินออกไปเพื่อใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมเป็นหลัก  จนต่อมาในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีชาวจีนได้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงแหลมแท่น  และได้ริเริ่มสกัดโขดหินตรงแหล่มแท่นออกมาใช้ทำเป็นป้ายฮวงซุ้ย  โม่หิน  เป็นชิ้นงานในระยะแรก
    การแกะสลักหินในรูปผลิตภัณฑ์ครกมีพัฒนาการต่อมาที่อ่างศิลาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่  ๒  หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อยด้วยการอาศัยหินแกรนิตที่อ่างศิลาที่มีเนื้อหินเป็นเหล็กเพชร  เมื่อนำมาทำเป็นครกแล้วจะออกสีเนื้อมันปูหรือออกทางสีขาวนวลอย่างสวยงาม  ส่วนรูปแบบของครกนั้นมีที่มาจากการดัดแปลงรูปทรงจากกระถางธูปไหว้เจ้าของจีน  ซึ่งมีจุดสังเกตคือมีปุ่มนูนสองข้างครกหรือที่เรียกว่าหูอย่างเด่นชัด  นอกจากนั้นช่างที่อ่างศิลายังได้พัฒนาปรับปรุงรูปแบบครกให้มีลักษณะเป็นรูปทรงอื่น  ๆ  อีกหลายแบบ  ได้แก่  ครกขา  ครกกะเบือ  ครกฟักทอง  และครกฟูเกลียว  พร้อมไปกับออกแบบลวดลายแกะลงบนตัวครก  เช่น  ลายกระจัง  ลายกงจักร  ลายธรรมจักร  ลายตาอวน  (ลายข้าวหลามตัด)  ลายเกลียว  ฯลฯ
    กรรมวิธีการผ่าหิน  ตีหิน  (แกะสลักหิน)  ถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของช่างที่สำคัญในการสังเกตด้วยตาและรับรู้ด้วยโสตประสาทเพื่อการจำแนกแยกแยะลักษณะของหินที่มีคุณภาพ  และการสลักหินให้ขาดออกจากกันตามขนาดที่ต้องการ  ภูมิรู้เช่นที่ว่านี้ช่างจะต้องมีประสาทการได้ยินเสียงที่ดีสามารถจำแนกแยกแยะเสียงจากการเคาะได้ออกว่า เสียงแบบใดเป็นตัวหินมีเนื้อหินที่แข็งแกร่งไม่เกิดรอยร้าวภายใน  เช่น  มีเสียงดังกังวาลแจ่มใสตัวหินนี้จะใช้ได้  แต่ถ้าเสียงดังพลุ  ๆ  หรือดังอ่อนนุ่มแสดงว่าก้อนหินตายไม่เหมาะจะใช้แกะสลัก  หรือการผ่าหินให้ขาดออกจากกันจะต้องวางแนวร่องในการตีหินไปตามชั้นหินเป็นต้น  กระบวนการแกะสลักต้องมีหินที่เรียกว่า  “หุ่น”  เป็นแบบมีลักษณะเป็นหุ่นครกแบบคร่าว  ๆ  และมีเศษหินก้อนเล็กจะใช้ทำเป็นท่อนสำหรับทำไม้ตีพริก  (สาก)  ส่วนกรรมวิธีแกะสลักครกนั้นต้องเริ่มจากด้านในก่อนโดยเจาะเป็นหลุมลึกลงไปขนาดพอเหมาะกับความต้องการ จากนั้นจึงมาตกแต่งผิวด้านนอกให้เรียบร้อยด้วยเครื่องมือ  (แต้)  หรือด้วยการขัดหินด้วยเครื่องขัดหิน
    การแกะสลักหินอ่างศิลาหากจะวิเคราะห์รูปแบบของผลงานที่ถูกทำขึ้นจะมีหลายชนิดเป็นต้นว่าครก  โม่  ป้ายฮวงซุ้ย  ใบเสมา  หรือรูปสัตว์ต่าง  ๆ  เป็นต้น  กรณีของครกตามที่ได้มีการศึกษามานั้น  งานช่างประเภทนี้ข้อมูลที่ได้จัดเป็นข้อมูลทั่วไปยังมีการสืบสานงานประเภทนี้อยู่มาก  ส่วนการทำโม่หินในปัจจุบันข้อมูลส่วนนี้น่าเป็นห่วงมากขาดการสืบสานต่อมาภายหลังและน่าจะมีการศึกษาเป็นกรณีพิเศษเพิ่มเติมอีกครั้ง


วัฒนธรรมการรับประทานน้ำพริกของคนไทยมีมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัยหากแต่กรรมวิธีในการปรุงรสยังไม่มีความพิถีพิถันมากนัก  ส่วนมากจะเป็นเพียงคั่วให้หอมและตำให้ละเอียดผสมเกลือลงไปให้มีรสชาติเผ็ด  เค็ม  เท่านี้ก็นับว่าอร่อยได้รสชาติแล้วสำหรับคนในสมัยโบราณ  เพราะเมื่อนำไปรับประทานร่วมกับปลาและผักสดซึ่งมีคุณค่าอาหารสูงก็นับว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์มากชนิดหนึ่งน้ำพริกจึงจัดเป็นอาหารชูรสของไทยมาตลอด  และการปรุงน้ำพริกให้อร่อยนี้นิยมทำกันมานานกว่า  ๘๐๐  ปี  ก็คือการตำ  แม้ว่าปัจจุบันจะมีการประดิษฐ์เครื่องบดหรือเครื่องปั่นอาหารออกมาจำหน่ายอย่างมากมาย  และช่วยทุนแรงการตำน้ำพริกตามวิธีการเดิมเป็นอย่างยิ่งก็ตาม    แต่ปรากฎว่าไม่มีเครื่องบดอาหารชนิดใดสามารถทำน้ำพริกให้แหลกละเอียดและมีรสชาติอร่อยถูกปากคนไทยได้เท่ากับการตำ  เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีความสำคัญคู่กับน้ำพริกและวัฒนธรรมการปรุงอาหารของคนไทยที่ให้น้ำพริกมีความอร่อยถูกปากถูกใจขึ้นมาก็คือ  ครก  อุปกรณ์ปรุงอาหารคู่ครัวของคนไทยมาทุกยุคสมัย  และเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตการกินอยู่ได้เป็นอย่างดี
“ครกไทย”  ดั้งเดิมทำมาจากดินเผาและปูนแดง  ส่วนไม่ตีพริกทำมาจากไม้เนื้อแข็งเพื่อให้มีน้ำหนักในการโขลกและตำให้แหลกละเอียดโดยเร็ว  ครกแบบเดิมนั้นมีข้อเสียคือ  ครกแตกพังง่ายต้องทำขึ้นใช้ใหม่อยู่เสมอ  ๆ  นอกจากนั้นครกสมัยโบราณยังนิยมทำด้วยไม้ขนาดใหญ่มาขุดเจาะทำเป็นหลุมครก  ส่วนมากใช้สำหรับตำข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสาร  เรียกครกชนิดนี้ว่า  “ครกกระเดื่อง”  ส่วนครกที่ใช้ในครัวเรือนมีขนาดเล็กและนิยมปั้นด้วยดิน  เรียกว่า  “ครกกะเบือ”  ซึ่งครกแบบหลังนี้มีข้อจำกัดในการนำมาใช้ไม่สามารถตำน้ำพริกได้ครั้งละมาก  ๆ  และถ้าตำแรงเกินไปครกก็จะแตก
ต่อมาเมื่อช่างตีหินที่อ่างศิลาได้มีการประยุกต์แบบของครกหินขึ้นมาใช้  ซึ่งด้วยความแข็งแรงทนทาน  และการโขลกน้ำพริกได้ละเอียดอย่างรวดเร็วกว่าครกดินเผาเดิม  ครกหินจึงเริ่มได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว  ในช่วงระยะแรกจะมีใช้กันเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง  ผู้มีฐานนะก่อน  หลังจากนั้นจึงเริ่มแพร่หลายไปยังประชาชนทั่วไปโดยลำดับ  และด้วยคุณภาพของครกที่อ่างศิลาทั้งการเลือกใช้หินที่ดี  มีกระบวนการผลิตการแกะสลักอย่างพิถีพิถันจึงส่งผลให้ครกอ่างศิลาเป็นผลิตภัณฑ์งานช่างที่เป็นที่ต้องการของลูกค้าเรื่อยมาซึ่งอาจกล่าวได้ว่าชื่อ  “ครกหินอ่างศิลา”  ได้กลายเป็นเครื่องหมายแสดงถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ที่แหล่งทำครกในที่อื่น  ๆ  มักจะนำไปแอบอ้างเพื่อเพิ่มยอดขายและสร้างความเชื่อถือยอมรับในครกหินของตนไปพร้อมกัน
ปัจจุบันการประกอบอาชีพตีหิน  (แกะสลักหิน)  กำลังได้รับผลกระทบจาก  “ผลิตภัณฑ์หินทรายเทียม”  ในรูปแบบต่าง  ๆ  ที่มีการนำเข้ามาจำหน่ายจากแหล่งผลิตที่ด่านเกวียน  จังหวัดนครราชสีมา  ซึ่งด้วยรูปลักษณะที่สะดุดตาและราคาย่อมเยา  และวัสดุที่ผลิตมีธรรมชาติใกล้เคียงหินแท้จึงทำให้ผลิตภัณฑ์หินทรายเทียมได้กลายเป็นสินค้าที่เข้ามาตีตลาด  ผลิตภัณฑ์การแกะสลักหินอ่างศิลาเดิมให้ชะลอตัวลง  โดยเฉพาะกลุ่มตลาดระดับกลางและล่างอันเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่นิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในอ่างศิลาและบางแสนแห่งนี้


    ชายฝั่งทะเลบริเวณบ้านอ่างศิลา  บ้านแหลมแท่น  อำเภอเมืองชลบุรี  ชายหาดด้านหน้าและพื้นทีต่อเนื่องด้านในมีโขดหินแกรนิตที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นดินตรงเนินด้านหลังวัดอ่างศิลานอก  และตามชายหาดที่เป็นโขดหินตั้งขึ้นระเกะระกะมากมายหลายขนาด  หินแกรนิตที่งอกขึ้นมาตามแนวชายฝั่งตั้งแต่บ้านอ่างศิลาลงไปจัดได้ว่าเป็นหินแกรนิตที่ดี  และด้วยความอุดมสมบูรณ์จากแหล่งหินธรรมชาติและตัวหินแกรนิตมีคุณภาพ  พื้นที่แหล่งหินแถบอ่างศิลาและแหลมแท่นได้เป็นที่สนใจของช่างทำหินในช่วงต่าง  ๆ  ได้เดินทางมาตั้งหลักปักฐานออกขุดตัดหินแกรนิตแห่งนี้ไปใช้สอยในรูปแบบต่าง  ๆ  มาโดยตลอด 
โดยการทำหินครั้งแรกเริ่มต้นที่แหลมแท่น  ตำบลแสนสุข  อำเภอเมืองชลบุรี  ก่อนเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยช่างชื่อ  “พระศิลาการวิจารณ์”  เพื่อนำแผ่นหินไปใช้ในการพระพุทธรัตนสฐานในพระบรมมหาราชวัง  ต่อมาจึงมีชาวจีนเข้ามาอยู่อาศัยตรงโขดหินที่แหลมแท่นแล้วเริ่มสกัดหิน  ผ่าหินทำเป็นโม่  ทำเป็นป้ายฮวงซุ้ย  เป็นชิ้นงานแรก  ๆ  ต่อมาจึงได้พัฒนามาแกะสลักครกหินขึ้นที่อ่างศิลา  ช่างตีหินคนสำคัญในช่วงแรกได้แก่  นายหยงยู้  แซ่เจ็ง  นายแปะรู้  แซ่ลี่  นายเล่าโง้ว  แซ่โง้ว  นายเหนี่ยวอิ้ว  แซ่ตั้ง  นายบักท้ง  แซ่ตั้ง  นายพะเห้ง  แซ่ลี่  และนายตงเห้ง  แซ่เจ็ง 
การแกะสลักครกหินหรือ  “การตีครก”  “ตีหิน”  ของช่างแถบอ่างศิลามาเริ่มขึ้นภายหลังเมื่อมีการควบคุมการขุดตัดหินตรงแหลมแท่น  ช่างจึงได้เริ่มขยับขยายมาที่อ่างศิลาด้วยการอาศัยแหล่งหินแกรนิตด้านหลังวัดอ่างศิลานอกเป็นวัสดุหลักทดแทนหินจากแหลมแท่นเดิม  ในช่วง  พ.ศ.  ๒๔๘๙–๒๕๐๐  ได้มีชาวจีนรุ่นหลังได้เดินทางเข้ามาประกอบอาชีพช่างตีหินเพิ่มมากขึ้น  เช่น  นายซิวเซ็ง  แซ่เอี้ยว  นายลุ้น  แซ่แต้  (บิดาของนายขจร  รุ่งเรืองศิลาทิพย์)  เป็นต้น  ช่างจากจีนที่เข้ามาส่วนใหญ่เคยเป็นช่างทำหินจากจีนมาก่อน  ฝีมือยังไม่ถึงขั้นแกะสลักเป็นรูปทรงที่สวยงามได้
การเข้ามารับงานตีหินทำครกในชั้นแรกจึงเป็นไปได้ไม่ยากนัก  ในช่วงพ.ศ.  ๒๕๐๐  ลงมาธุรกิจการแกะสลักครกหินได้กลายเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของประชาชนเพิ่มมากขึ้น  ประกอบกับรัฐบาลสมัยจอมพล  ป.พิบูลสงคราม  และจอมพลสฤิษด์  ธนะรัฐต์  ได้พัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวและตากอากาศขึ้นที่บางแสน การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของผู้คนจึงเพิ่มปริมาณขึ้นไปพร้อมกัน  ซึ่งการพัฒนาการท่องเที่ยวนี้ได้มีส่วนอย่างสำคัญต่อการประกอบอาชีพครกหินให้ขยายตัวเช่นเดียวกัน  จนต้องชักชวนให้ชาวบ้านอื่น  ๆ  ในพื้นที่บ้านอ่างศิลาและใกล้เคียงได้หันมาทำครกหินด้วยกัน จนในที่สุดได้กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมของหมู่บ้านแถบอ่างศิลาไปโดยปริยาย

การกำเนิดการแกะสลักหิน  วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยเรื่องของ  “น้ำพริก”  นับเป็นอาหารชูรสของคนไทยมาโดยตลอด  และการปรุงน้ำพริกให้อร่อยที่นิยมทำกันมานานกว่า  ๘๐๐  ปี  คือ  “การใช้วิธีการตำ”  ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีเครื่องมือบดอาหารทำน้ำพริกให้แหลกละเอียดได้อย่างรวดเร็วทันใจมากมายหลายแบบแล้วก็ตาม  ทว่าการใช้เครื่องมือทุ่นแรงเหล่านั้นกลับไม่สามารถช่วยให้รสชาติการทำน้ำพริกได้อร่อยถูกปากเท่ากับการตำอยู่ดี  หากถามว่า  การรับรู้ถึงรสชาติถึงความกลมกล่อมจากการตำด้วยครก  ข้างต้นเป็นการคิดเอาเองหรือเป็นข้อเท็จจริง  ซึ่งตามการประกอบอาหารของครอบครัวไทยเท่าที่ผ่านมาในหลายครอบครัวต่างก็ได้ลงความเห็นว่า  การตำน้ำพริกด้วยครกจะช่วยชูรสน้ำพริกให้เอล็ดอร่อยมากกว่าเดิม
คนไทยสมัยก่อนใช้ครกกะเบือในการบดอาหารให้แหลกเรื่อยมา จนถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อมีการติดต่อค้าขายกับเมืองจีน จึงทำให้วิถีการกินอยู่บ้างด้านของคนไทยให้เปลี่ยนแปลงไป  เช่นการใช้ครกหินมาตำน้ำพริกแทนครกดินเผาตามแบบเดิม  โดยเชื่อว่าครกหินสามารถโขลกเครื่องน้ำพริกได้ละเอียดรวดเร็วกว่าครกดินเผา  ความสะดวกจากการใช้งานของครกหินรูปแบบใหม่จึงมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ครกหินได้รับความนิยมในเวลาต่อมา  และมีแหล่งทำครกดั้งเดิมอยู่ที่จังหวัดชลบุรีบริเวณตำบลแสนสุข  ตำบลอ่างศิลา  และตำบลเสม็ด  โดยเฉพาะที่ตำบลอ่างศิลาเป็นแหล่งทำครกหินที่สำคัญ  และมีแหล่งผลิตเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งหินแกรนิตที่ตำบลอ่างศิลาถือว่าเป็นหินที่นำมาทำครกได้เป็นอย่างดี
กรรมวิธีแกะสลักหิน
การแกะสลักหิน  หรือ  “การตีนหิน”  หรือ  “การทำครก”  ในเอกสารฉบับการวิเคราะห์นี้คือ  คำ  หรือความหมายที่นำมาใช้เพื่อการขยายความภูมิปัญญาเชิงช่างเรื่องการแกะสลักหินที่อ่างศิลาเป็นหลัก  ซึ่งการถือกำเนิดที่นี่เมื่อประมาณ  ๑๐๐  ปีที่ผ่านมาได้กลายเป็นต้นแบบให้ช่างในถิ่นอื่น  เช่น  เขาอีโต้  ตำบลบางพระ  จังหวัดปราจีนบุรี  ตำบลหินกอง  จังหวัดสระบุรี  อำเภอตาพระยา  จังหวัดสระแก้วเป็นต้น  ส่วนวิธีการสำหรับนำไปใช้ในการแกะสลักของแต่ละท้องถิ่นได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปตามช่วงเวลา  ส่วนกรณีการแกะสลักหินหรือการทำครกที่อ่างศิลานั้นบางส่วนยังคงเทคนิคกรรมวิธีในการแกะสลักหินแบบเดิมไว้โดยสามารถจำแนกวิธีการได้ดังนี้
๑.  เครื่องมือ  เครื่องมือแกะสลักหินใช้ทำครกแบบดั้งเดิมของช่างพื้นบ้านอ่างศิลาและใกล้เคียงมีลักษณะไม่แตกต่างกัน  ส่วนใหญ่เน้นการใช้ด้วยมือเป็นหลัก  ไม่มีเครื่องมือทุ่นแรงมากนัก  และมีเครื่องมืออุปกรณ์บางตัวช่างต้องทำมันขึ้นมาเพื่อใช้ประจำตัว  เพื่อให้สามารถหยิบจับได้ถนัดคือและไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอีกด้วย  โดยเครื่องมือที่ใช้ด้วยมือของช่างอ่างศิลาสามารถจำแนกตามชื่อเครื่องมือแบบพื้นบ้านดังนี้คือ  ลิ่ม  จ๋ำ  แต้  พก  และพง  (ดูตารางที่  ๑)



ตารางที่  ๑  เครื่องมือตีหินแบบดั้งเดิม
เลขที่    ชื่อ    รูปลักษณะการใช้งาน    ขนาด    ภาพประกอบ
๑    ลิ่ม    เหล็กกล้าตัวด้ามกลม  ส่วนปลายแบนใช้สำหรับผ่าหิน  ด้วยค้อน  ๑๔  ปอนด์    กว้าง  ๑๑/๒  นิ้ว
ยาว  ๘  นิ้ว   
๒    จ๋ำ    เหล็กปลายแหลมตัวใหญ่ไว้ขึ้นรูป  ตัวเล็กไว้เก็บแต่ง    ยาว  ๖-๗  นิ้ว
กว้าง  ๑  นิ้ว   
๓    แต้    เหล็กปลายตัดไว้แต่งมุม 
ลบเหลี่ยม    ยาว  ๗  นิ้ว   
๔    พก     เหล็กพกค้อนใหญ่ใช้เชือกมัด
ยาว  ๑๖  นิ้ว  ปลายพกแบนชุบแข็ง  ใช้ผ่าหิน  ด้วยค้อน  ๑๔  ปอนด์    หนา ๑๑/๒  นิ้ว
ยาว  ๒.๔  นิ้ว   
๕    พง (ปากเขี้ยว)    เหล็กหนาส่วนปลายแบนทำเป็นซี่  (มีดเล็บ)  หุ้มด้วยทองเหลือง  ใช้เกลาแต่งผิวหินปลายแบนเก็บละเอียดเรียก  “พงเกี้ย”    ยาว  ๖  นิ้ว   
๖    ต๊อก    เหล็ก  ๑  นิ้ว  ต่อปลายด้วยมีด  เล็ก  ขนาด  ๑  ซ.ม.  และหุ้มทองเหลืองใช้แกะแต่งส่วนละเอียด    ยาว  ๗  นิ้ว   

    นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการแกะสลักอื่น  ๆ  อีกได้แก่  ค้อนลบเหลี่ยม  ค้อนเก็บละเอียด  ไม้ลาก  วงเวียน  (โบราณทำจาไม้ไผ่)  หมึกจีน  น้ำ  เป็นต้น
    ๒.  การผ่าหิน  กรรมวิธีผ่าหินเมื่อก่อนไม่มีการใช้ระเบิดเพื่อการย่อยหิน  หรือเครื่องมือกล  (Power Tools)  เพื่อการสกัด  ผ่าหิน  แกะสลัก  ฯลฯ  เช่นทุกวันนี้  หากแต่ขั้นตอนในการทำงานจะใช้เครื่องมือที่คิดขึ้นจากภูมิปัญญาของช่างเอง  หรือใช้เครื่องมือที่ใช้ด้วยมือ  (Hand Tools)  เป็นอุปกรณ์หลัก  เช่นการผ่าหิน  ก็จะนำ  “ลิ่ม”  มาเจาะรูลงบนหินให้เป็นแนวตามขนาดยาว  (กว้าง)  ของก้อนหิน (แผ่นหิน)  ก่อน  แล้วจึงใช้  “จั๋ม”  (เหล็กสกัด)  เจาะรูให้ลึกลงไป  หลักจากนั้นจึงใช้เหล็กลิ่มอัดด้วยการใช้ค้อนใหญ่ตอกให้ก้อนหินแตกออกจากกันเป็นก้อนย่อม  ๆ
    การผ่าหินอีกแบบหนึ่งเป็นการผ่าหินขนาดใหญ่มีการใช้เครื่องมือกล และเครื่องมือทุ่นแรงเข้าช่วย  ได้แก่  เครื่องมือลม  ปั๊มลม  ลิ่มและปีก  หรือ  “ลิ่มเบ่ง”  เป็นต้น  การผ่าหินแบบนี้กรรมวิธีจะต้องเริ่มจากการใช้ค้อนลมเจาะรูนำลงบนหินก่อนเป็นช่วง  ๆ  ไปตามแนวเส้นที่แบ่งไว้  รูที่เจาะมีความลึกตื้นจะขึ้นอยู่กับขนาดความหนา  ความใหญ่ของก้อนหิน  (ในการนี้ก่อนเจาะต้องเลือกใช้ก้านเจาะให้เหมาะสมกับความหนาของก้อนหินด้วย)  หลังจากนั้นถ้าใช้ลิ่มเบ่งแบบเดิมก็ให้สอดปีกส่วนของปลายแหลม  (หรือหัว)  ตั้งขึ้นจากช่องที่เจาะไว้  แล้วตามด้วยสอดลิ่มไว้ตรงกลางระหว่างปีกให้ครบตามรูที่ได้เจาะวางเข้าไว้  หลังจากนั้นจึงใช้ค้อนปอนด์  (น้ำหนักของค้อนหนักเบาขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนหิน)  ตีลงบนโคนลิ่มของแต่ละจุดสลับกันไปมาจนก้อนหินค่อย  ๆ  แยกออกจากกัน  กรณีการใช้ลิ่มเบ่งขนาดใหญ่  “ตัวลิ่มและปีก”  จะประกอบเป็นชุดเดียวกัน  วิธีใช้เพียงแต่สอดใส่ชุดอุปกรณ์นี้ลงไปก็สามารถใช้การได้โดยทันที  ไม่ยุ่งยากเหมือนแบบเดิม
    การผ่าหินตามกรรมวิธีแบบเก่า  ต้องใช้เวลานานด้วยการทอนหินหรือลดขนาดของหินให้มีขนาดย่อมลง  และให้ได้รูปที่ต้องการ  กรรมวิธีแบบนี้ยังมีใช้กันอยู่บ้างด้วยไม่ต้องลงทุนมาก  และสามารถใช้เครื่องมือที่ใช้ด้วยมือ  (Hand Tools)  แบบพื้น  ๆ  ได้  เช่น  ใช้เหล็กสกัดตีลงบนก้อนหินที่ต้องการจะผ่าให้เกิดเป็นหลุมและเป็นแนวตามระยะที่ต้องการจะผ่า  แล้วใช้ลิ่มขนาดยาว  ๑  ฟุต  สอดลงไปและพยายามตีลงไปที่โคนลิ่มให้หนักเฉลี่ยให้ทั่ว  ตีไปสักพักก้อนหินจะค่อย  ๆ  แตกร้าวแยกออกจากกัน
    ข้อควรระวัง  การใช้แรงตีของค้อนต้องมีน้ำหนักแรงที่สม่ำเสมอ  และตีซ้ำ  ๆ  ตรงโคนลิ่มให้เฉลี่ยทั่วกัน  อีกทั้งขณะผ่าหินต้องพยายามสังเกตแนวของหินด้วยว่า  แนววิ่งไปทางใดมากที่สุด  เวลาผ่าหรือตัดหินให้เน้นไปตามแนวนั้น  ซึ่งแนวของหินมีลักษณะเป็นเสี้ยนเกล็ดหินเล็ก  ๆ  วิ่งไปแนวเดียวกันบ้าง  ย้อนกลับบ้าง  วางขวางบ้างไม่แน่นอน  การผ่าหรือตัดหินต้องตีไปตามแนวที่วิ่งไปทางเดียวกันให้มากที่สุด  เพราะจะทำให้ตัดหรือสกัดให้ขาดได้ง่ายที่สุด  การไม่ตัดหินตามแนวจะทำให้ได้เนื้อหินน้อย  เพราะหินจะเสี้ยวไม่เป็นไปตามกำหนด  เช่น  แทนที่จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมกลับไม่เป็นรูปอะไรเลย  เพราะหินที่ตัดไว้นั้นเสี้ยวมากไม่สามารถบังคับแนวเส้นที่จะตัดได้ตามขนาดต้องการ
    ๓.  ขั้นตอนการแกะสลัก
    การแกะสลักหินของช่างพื้นบ้านอ่างศิลาและเสม็ด  เมื่อก่อนมีกรรมวิธียุ่งยากมากเพราะต้องไปสลักหินจากโขดหินชายทะเลที่แหลมแท่น  หรือหลังวัดอ่างศิลา  เพื่อให้ได้ขนาดของแท่งหินที่ได้ส่วนประมาณยาว  ๒  เมตร  กว้าง  ๑  เมตร  หนา  ๑  เมตร  และสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายออกไปใช้งานได้ หลังจากนั้นจึงนำมาตัดและย่อยเป็นก้อนให้เล็กลงตามลำดับจนได้ขนาดหินสูง  ๑๐ - ๑๒  นิ้ว  กว้าง  ๑๐  นิ้ว  สำหรับทำโม่  ส่วนทำครกมีความสูงประมาณ  ๔-๖  นิ้ว  กว้าง  ๗-๘  นิ้ว  ส่วนเศษหินก้อนเล็ก  ๆ  จะถูกย่อยให้เป็นท่อนสำหรับทำไม้ตีพริก  (สาก)  (โดยหินที่ถูกย่อยแล้วเรียกว่า  “กั๊ก”  เป็นขนาดแท่งสี่เหลี่ยมมีขนาดพอเหมาะสามารถนำไปสกัดเป็นครกหรือเป็นโม่ได้  กรณีกรรมวิธีการแกะสลักครกหรือ  ตีครก  (ภาษาท้องถิ่น)  ตามแบบดั้งเดิมนั้นมีขั้นตอนดังนี้
    ขั้นตอนแรก  ต้องสกัด  (ตัดหิน)  ให้ได้หินที่เรียกว่า  “หุ่น”  (ก้อนหินเป็นแบบ)  ก่อน  ถ้าจะแกะสลักครกก็ต้องมีหุ่นครกเป็นเค้าโครงคร่าว  ๆ  ก่อน  เป็นแบบรูปครกตามขนาดและสัดส่วนโดยรวม  ซึ่งหุ่นจะใช้แกะสลักครกนั้นจะมีหลายขนาดต่างกันไปตามแต่ความคิดของช่างจะทำครกแบบไหน  (ครกขา  ครกโบราณ  ครกฟักทอง  ครกกะเบือ)  มีตั้งแต่ขนาดปากกว้าง  ๒  นิ้ว  ไล่ไปจนถึงขนาดใหญ่สุดปากกว้าง  ๑๒  นิ้ว  การเริ่มต้นแกะสลักครกต้องใช้  “จ๋ำ”  (เหล็กสกัด)  สกัดผิวหน้าของหินให้พอเรียบเสมอกันก่อน  แล้วจึงค่อยโกลนรูปด้านข้างพอให้ได้รูปร่างแบบหยาบ  ๆ  ของครก  เสร็จแล้วใช้  “จ๋ำ”  ตัวเล็กมีปลายแหลม  สกัดเก็บแต่งด้านหน้าผิวหินให้เรียบขึ้น  (ภาษาช่างท้องถิ่นอ่างศิลาเรียกว่า  “แพ้หน้าจ๋ำ”  แล้วต่อมาใช้  “พง”  (มีรูปคล้ายค้อน  ดูตารางที่  ๑)  สับผิวหน้าให้เรียบ
    ขั้นต่อไปจึงใช้ไม้ฉาก  (ทำจากไม้)  และ  “ไม้กี๊”  มาชุบหมึกจีนลากเส้นตรงตัดกันเพื่อหาศูนย์กลางให้ได้แล้วจึงนำวงเวียนไม้ไผ่  (แบบโบราณ)  จุ่มหมึกจีนตั้งให้ได้ศูนย์กลางแล้วลากตามความกว้างและความยาวที่ต้องการโดยมีสายเชือกเป็นตัวกำกับระยะให้ได้ส่วน
    ขั้นตอนที่สอง  ใช้เหล็กสกัด  (สกัด)  เจาะลงไปในหุ่นที่ลากเส้นกำกับขนาดไว้ให้เป็นหลุมลงไปโดยขั้นนี้อาจใช้จ๋ำใหญ่มาสกัด  พอขุดลงไปสักระยะหนึ่งพอได้ขนาดก็ใช้เหล็กสกัดที่เรียกว่า  “แต้”  สกัดผิวนอกครกให้เป็นทรงอย่างต้องการ  และควรใช้  “กี๊”  เชือกวัดวาดรอบครกเพื่อกำหนดความสูงของครก  (จากปากถึงก้น)  ไว้เป็นแนวสำหรับตัดก้นครกให้เรียบร้อย  เพื่อตัดก้นครกพอได้ขนาดแล้วจึงใช้  “พง”  สับหรือเคาะผิวให้เรียบร้อยอีกครั้ง  ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
    ๔.  เคล็ดลับเชิงกลวิธี  การแกะสลักครกต้องเริ่มจากด้านในก่อนโดยเจาะให้เป็นหลุมลึกลงไปตามขนาดที่ต้องการ  (อาศัยประกอบด้วยสายตา)  เหตุที่ต้องแกะสลักจากด้านในก่อนเนื่องจากว่าหินด้านในหนากว่าด้านนอก  การเจาะหินลงไปกระทำได้ยากต้องใช้แรงในการตี  หากตีแรงโดยไม่ระมัดระวังอาจทำให้ครกบิ่นหรือแตกได้ง่าย  หรือหากทำด้านนอกก่อนยิ่งทำให้เนื้อหินส่วนที่เป็นปากครกบางยิ่งขึ้น  (เพราะควบคุมขนาดความหนาบางของปากครกไม่ได้)  และเมื่อถึงขั้นตอนเจาะขุดหลุมด้านในแล้วจะทำได้ยากเป็นเท่าตัว
    กรณีการขัดผิวหินให้เรียบเมื่อก่อนจะใช้หินทราย หากเป็นด้านในจะใช้ทรายใส่ลงไปในครกแล้วตำจนกว่าผิวครกด้านในจะเรียบเสมอกัน  ขั้นตอนนี้ใช้เวลาหลายวันกว่าผิวจะเรียบ  ปัจจุบันมีเครื่องทุ่นแรงคือ  “เครื่องเจียหิน”  ช่วยทุ่นแรงและเวลาได้มาก  ส่วนเคล็ดลับอีกอย่างหนึ่งคือ  เวลาแกะสลักครกควรแกะบนพื้นหญ้าด้วยมีแรงสะท้อนน้อยและกันกระแทกได้ดีกว่าพื้นไม้หรือปูน  (เพราะมีแรงสะท้อนมากจะทำให้หินที่ถูกแรงตีแตกบิ่นได้ง่ายหรือจะทำให้มือที่แกะสลักแตกเป็นแผล)

สรุปผลการวิเคราะห์

    การแกะสลักหิน  (ครกหิน)  ถือกำเนิดขึ้นจากวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี  (ตำบลอ่างศิลา  ตำบลเสม็ด)  เมื่อช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา  เป็นความต้องการมีครกหินสำหรับตำน้ำพริกมาใช้ทดแทนครกดินเผาแบบเดิมที่ไม่ทนทานและแตกหักง่าย  ซึ่งการพัฒนารูปแบบของครกในระยะแรกได้รับแรงบันดาลใจมากจาก  “กระถางธูปของจีน”  ที่ใช้ไหว้เจ้าโดยรูปทรงของครก  ในช่วงแรกครกโบราณยังคงส่วนรูปลักษณะส่วนของหูกระถางธูปไว้  ด้วยการแกะสลักเป็นปุ่มนูนเห็นได้อย่างชัดเจน  ต่อมาจึงได้พัฒนารูปแบบครกออกมาเป็นรูปทรงต่าง  ๆ  ได้แก่  ครกขา  ครกกะเบือ  ครกฟักทอง  ครกพูเกลียว  เป็นต้น  พร้อม  ๆ  ไปกับมีการนำลวดลายไทยบางแบบมาใช้ตกแต่งลงบนครกให้เกิดความสวยงามเพิ่มเติมขึ้น
    กระบวนการแกะสลักครกหินช่างจะต้องมีความเข้าใจและรู้จักธรรมชาติของหินแต่ละตัว  (ก้อน)  ที่จะใช้แกะสลัก  สามารถใช้การรับรู้ด้วยโสตประสาททดสอบตัวหินว่ามีคุณภาพเหมาะสม  (แข็งแกร่งเนื้อแน่น  ไม่มีรอยร้าวภายใน)  ก่อนจะนำมาแกะสลัก  กรณีของความเชี่ยวชาญเช่นนี้ช่างแกะสลักหินต้องใช้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์เป็นเวลานาน  จนช่างสามารถจะใช้การเรียนรู้ด้วยการฟังแยกแยะคลื่นเสียงที่เกิดบนตัวหินได้อย่างแม่นตรง  ส่วนขั้นตอนการแกะสลักหินจะต้องเริ่มด้วยการขึ้นรูปโกลนรูปเป็นรูปทรง  (หุ่น)  ของครกแบบหยาบ  ๆ  ก่อน  แล้วจึงวัดขนาดและขุดเจาะลงไปเป็นหลุมในส่วนกลาง  พอได้ที่จึงค่อยมาตกแต่งหุ่นรูปนอกที่ขึ้นรูปไว้ให้เรียบร้อย

0 comments

Post a Comment