งานช่างฝีมือประดับมุก
“งานช่างฝีมือประดับมุก” เป็นศิลปหัตถกรรมชั้นสูงของไทยสร้างขึ้นด้วยฝีมืออันประณีตบรรจง มีความงดงามวิจิตรพิสดารเป็นอย่างยิ่งจนเป็นที่ตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็น การทำลายประดับมุกกระทำจากการใช้เปลือกหอยทะเลชนิดหนึ่งมีเนื้อเงาแวววาวคือ หอยมุก หรือเปลือกหอยอูด (หอยทะเลชนิดหนึ่ง) ที่ชาวบ้านเรียกว่าหอยโข่งมุกมีเปลือกหนาเมื่อจะนำมาใช้งานจะต้องทำการตัดขัดแต่งให้ได้ขนาดความหนาที่พอเหมาะก่อนจะนำไปใช้งาน โดยจะใช้เปลือกหอยมาฉลุเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตามลวดลายที่เขียนไว้ แล้วทำการฉลุไปตามเส้นลาย หลังจากนั้นนำลายมุกที่ฉลุไปติดลงบนแผ่นกระดาษลายต้นฉบับด้วยกาว จนถึงใช้ยางรักชนิดแห้งเร็วลงทับ ปล่อยไว้จนแห้งจึงลอกกระดาษที่เป็นแม่ลายออก และขัดจนเห็นลายมุกขึ้นทั่ว ซึ่ง “งานช่างประดับมุก” เป็นงานที่ทำโดยนายพิษณุ แวกประยูร มีถิ่นฐานอยู่ที่ ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี
งานช่างประดับมุก เป็นงานช่างฝีมือที่ถูกจัดอยู่ในงานประณีตศิลป์ มีศิลปลักษณะงดงามและใช้ความสามารถทางฝีมือที่ละเอียดอ่อนประณีตมากจนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เป็นที่น่าเสียดายว่า ลายประดับมุกเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากในปัจจุบันนี้ แม้จะมีเหลืออยู่บ้างตามบานประตู หน้าต่างวัดวาอารามแต่ก็มีสภาพไม่ดีนักเพราะขาดการดูแลเอาใจใส่รักษา จึงทำให้ลวดลายของมุกที่ประดับไว้มีความคร่ำมัวหมองลงไปจนบางแห่งเลอะเลือนจนเกือบมองไม่เห็นลวดลาย ทำให้คุณค่าและความงามในตัวงานช่างลดน้อยลงไป อาจกล่าวได้ว่างานช่างประดับมุกเป็นงานช่างชั้นยอดเยี่ยมอีกชนิดหนึ่งที่จะหาชาติใดทำได้และเป็นงานฝีมือชั้นสูงที่มักนิยมใช้มาแต่โบราณกาลในของสูงของพระมหากษัตริย์ และสถานที่เคารพบูชาทางศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เช่น บานประตูหน้าต่าง พระอุโบสถ พระมณฑป พระวิหาร ฯลฯ ตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ เป็นต้นว่า ตู้พระมาลัย ธรรมาสน์ ตะลุ่ม พานแว่นฟ้า ฝาบาตร กล่องใส่หมากพลู เป็นต้น
การจัดเก็บข้อมูลครั้งนี้น่าจะนำไปใช้ประโยชน์เกี่ยวกับจัดทำฐานความรู้เรื่องงานช่างฝีมือพื้นบ้าน หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเผยแพร่ให้กับหน่วยงานสถานศึกษาหรือผู้สนใจได้รับทราบถึงแบบอย่างและข้อมูลที่ถูกต้องในงานช่างฝีมือประดับมุก เพราะเนื้อหาสาระดังกล่าวนับวันจะหาผู้ที่เข้ามาศึกษารวบรวมและจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบก็น้อยเต็มที โดยเฉพาะการให้รายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนกรรมวิธีทำงานประดับมุกว่าทำอย่างไร (Knowhow) นับเป็นเรื่องที่มีคุณค่า และประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง
“งานช่างประดับมุก” เป็นศิลปหัตถกรรมชั้นสูงของไทยที่สร้างขึ้นด้วยฝีมืออันประณีตบรรจงและกระทำกันมาแต่โบราณกาล ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มสมัยใดแต่มีผลงานการใช้วิธีฝังมุกประดับลวดลายตกแต่งปูนปั้นที่เจดีย์ในสมัยทวารวดีและสมัยเชียงแสนด้วยมีการฝังมุกที่พระเนตรของพระพุทธรูป เรื่อยลงมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ประเทศใกล้เคียงในแถบเอเชียตะวันออกได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ได้มีการนำมุกมาประดับคล้ายกับช่างไทย อย่างจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ใช้วิธีฝังมุกลงไปในเนื้อไม้ที่ย้อมสีดำ ส่วนเวียดนามมีการทำมุกสองวิธีคือ ฝังลงไปในเนื้อไม้เหมือนจีนอย่างหนึ่ง และตามพื้นเหมือนอย่างไทยก็มีบ้าง กรณีของไทยจะใช้วิธีฝังมุกด้วยวิธีการตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประดับลงบนพื้นที่ตามลวดลายที่เขียนไว้ เสร็จแล้วใช้รักชนิดแห้งเทลงทับรักที่ลงพื้นไว้อีกครั้งและทิ้งไว้จนรักหมาดเหนียว จึงเริ่มประดับมุกโดยนำแผ่นกระดาษที่มีมุกติดไว้กดลงบนรักให้ทั่ว ปล่อยไว้จนรักแห้งแข็งตัวจึงลอกกระดาษที่เป็นแม่ลายออก โดยใช้น้ำเช็ดให้เปียกแล้วจึงลอกออก ถ้าลวดลายยังไม่เรียบร้อยจะต้องใช้หินกากเพชรค่อย ๆ ขัดกับน้ำขัดจนเห็นลายมุกขึ้นทั่ว เมื่อผิวรักเรียบร้อยดีแล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิทจึงขึ้นวิธีขัดมัน
วัตถุที่นำมาประดับมุกได้แก่เปลือกหอยทะเลที่มีประกายสีรุ้งมีความเงาแวววามเช่น หอยนมสาว หอยจอบ หอยงวงช้าง หอยสองฝา หอยอูดเป็นต้น มีลวดลายที่นำมาใช้จะคำนึงถึงภาชนะที่ใช้ในการตกแต่ง และส่วนใหญ่จะนิยมลวดลายพวก ลายกนก ลายก้านขด ลายกระจังเป็นต้น แต่ถ้าหากวัสดุที่ประดับมุกมีพื้นที่เรียบมาก ปรากฏตามหน้าต่างโบสถ์วิหาร มักจะทำลวดลายเป็นเรื่องราวตามเรื่องรามเกียรติ์ พุทธประวัติ ฯลฯ แม้จะเป็นเพียงเรื่องราวบางตอนก็ตามแก่ ก็พอจะทำให้มองเห็นได้ว่าช่างมีความสามารถและมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งด้วยการนำเรื่องราวจากวรรณกรรมมาผสมผสานกับงานช่างที่เป็นประณีตศิลป์ได้เป็นอย่างดี
งานช่างฝีมือประดับมุกของนายพิษณุ แวกประยูร ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ จัดเป็นงานช่างที่มีฝีมือได้คุณภาพมากจนได้รับการยอมรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี งานช่างลักษณะนี้จัดเป็นข้อมูลทั่วไปที่มีทำกันอยู่ทั่วไปยังพอจะหาข้อมูลและวิธีการประดับมุกอันเป็นลักษณะเฉพาะได้จากแหล่งอื่น ๆ อีกมาก
“งานช่างฝีมือประดับมุก” หรือ “การประดับมุก” เป็นศิลปะการตกแต่งที่มีความวิจิตรงดงามปรากฏอยู่บนบานประตูหน้าต่างของพระอุโบสถวิหารหรือพระบรมมหาราชวัง รวมถึงบนภาชนะเครื่องใช้ของพระสงฆ์เช่น ตู้ พระมาลัย ธรรมาสน์ ตะลุ่ม พานแว่นฟ้า กล่องใส่หมากพลู เป็นต้น โดยมีลวดลายประดับตกแต่งจำพวกลายกนก ลายกระจัง และลายก้านขด หรือแม้แต่เขียนเป็นภาพกินรี ราชสีห์ คชสีห์ ประกอบตามส่วนต่าง ๆ เป็นอาทิ อนึ่งงานช่างนี้เป็นงานประณีต มีความละเอียดอ่อนและใช้ฝีมือเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้เป็นงานที่สิ้นเปลืองเวลาและมีราคาสูงตามไปด้วย ดังนั้นงานช่างประดับมุกจึงไม่ค่อยมีผู้สนใจมาเรียนรู้มากนักจะมีก็แต่ช่างผู้มีใจรักจริง ๆ เท่านั้น ปัจจุบันถึงแม้จะมีผู้เห็นคุณค่าได้ลงมือทำงานช่างประดับมุกอย่างจริงจังเป็นล่ำเป็นสัน แต่ทว่าฝีมือไม่อาจเทียบเคียงกับผลงานในอดีตได้
งานช่างประดับมุกถือว่าเป็นของใช้ชั้นสูง เพื่อเชิดชูความมีตำแหน่งฐานะ ที่ในอดีตจะใช้กันในแวดวงจำกัดของสถาบันกษัตริย์ ชนชั้นสูง และหมู่สงฆ์ทั้งหลายเท่านั้น จึงทำให้งานช่างประเภทนี้ไม่แพร่หลาย อีกทั้งเป็นงานช่างที่ต้องอาศัยฝีมือความละเอียดรอบคอบความมุมานะพยายามเป็นอย่างสูง เพราะว่าลวดลายต่าง ๆ ของลายประดับมุกมีความละเอียด ช่างประดับมุกต้องอาศัยความสามารถความชำนาญในการสร้างแม่ลายให้เข้ากับสีที่จะประดับมุก ไม่ว่าจะเป็นภาชนะหรือบนบานประตูหน้าต่างไปจนถึงโต๊ะเตียงก็ตาม ยิ่งถ้าเป็นภาชนะมีเหลี่ยมมุมโค้งเว้าด้วยแล้วการสร้างลายและการประดับมุกไปตามส่วนนั้น ๆ ก็ยิ่งกระทำได้ยาก อย่างไรเสียช่างไทยก็ได้สร้างศิลปหัตถกรรมหรือผลงานประณีตศิลป์ขั้นสูงได้มาก มีหลักฐานปรากฏตามวัดวาอาราม หรือในพระบรมมหาราชวังมากมาย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่งานช่างประดับมุก ณ สถานที่นั้นขาดการดูแลเอาใจใส่ ดูแลรักษาจึงทำให้ลวดลายของมุกที่ประดับไว้จากที่เคยแวววาวงดงามมาแต่อดีตดูคร่ำมัวลงไป จนบางแห่งเลอะเลือนจนเกือบมองไม่เห็นลวดลายที่มีคุณค่าเหล่านั้น
ในกรณีความสำคัญของช่างนั้นถือได้ว่างานประดับมุกเป็นงานช่างฝีมือชั้นสูงที่มีคุณค่า มีความวิจิตรพิสดารและมีเอกลักษณ์ของตนเองจนเป็นที่ตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็น โดยเฉพาะกรรมวิธีการสร้างงานที่กว่าจะได้ในแต่ละขั้นตอนการทำงานของช่าง จะต้องมีความวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างสูง จนได้ผลงานประดับมุกที่เสร็จเรียบร้อยงดงาม สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็น ซึ่งไม่อาจหางานช่างประเภทอื่นเทียบเคียงได้
“งานช่างฝีมือประดับมุก” มีประวัติความเป็นมาอย่างไรยังไม่ทราบหลักฐานแน่ชัดเพราะไม่เคยมีหลักฐานหรือจารึกใด ๆ เลยว่าชนชาติไทยเริ่มคิดค้นประดิษฐ์งานมุกได้เมื่อใด หรือได้รับอิทธิพลจากชาติใด อย่างเช่น จีน เวียดนาม หรือญี่ปุ่น ซึ่งก็มีการนำเปลือกหอยมุกมาใช้ประโยชน์ในงานศิลปกรรมเหมือนกับไทย แต่วิธีการประดับและลวดลายนั้นแตกต่างจากไทยโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทางโบราณคดีของการนำเปลือกหอยมาประดับตกแต่งเป็นลวดลายที่เก่าที่สุด พบว่าสมัยทวารวดีมีการใช้มุกประดับเป็นลวดลายการตกแต่งอยู่บนปูนปั้นบนโบราณสถานที่ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี มีอายุประมาณศตวรรษที่ ๑๒ นับได้ว่าเป็นหลักฐานที่เก่าที่สุด สมัยเชียงแสนลงมาก็มีการฝังมุกที่พระเนตรของพระพุทธรูปกระทั่งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงพบงานช่างประดับมุกชนิดใช้รักเป็นตัวเชื่อมเช่นปัจจุบัน มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือ ตู้พระไตรปิฏกประดับมุกอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีลวดลายกระหนกหางนาค บานตู้ด้านซ้ายประดับเป็นภาพพระนารายณ์ทรงครุฑ บานด้านขวาประดับเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พิจารณาตามลักษณะและลวดลายเป็นสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือประมาณ พ.ศ. ๒๒๔๖–๒๒๕๑ ส่วนที่จังหวัดชลบุรีมีการกระทำอย่างเป็นกิจลักษณะเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๐ ลงมานี้เอง โดยมีนายพิษณุ แวกประยูร เป็นช่างที่ได้นำประสบการณ์มาจากการฝึกงานครั้งแรกที่เสาชิงช้าแล้วต่อมาได้ย้ายมาทำเป็นส่วนตัวที่ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี
การทำ วิธีทำประดับมุกมีการดำเนินการอย่างไร (Knowhow) กรณีที่จังหวัดชลบุรีมีขั้นตอนการกระบวนการผลิตมี ๒ ขั้นตอนคือ ขั้นเตรียมการ และขั้นดำเนินการ และมีวัสดุที่ใช้ในการผลิตประกอบด้วย เครื่องกรอ เครื่องฉลุ หินเจีย กาว กระดาษลอกลาย และกระดาษทราย โดยสามารถให้รายละเอียดขั้นตอนกระบวนการผลิต (โต๊ะชุดรับแขกแบบมีลายฝัง) ได้ดังนี้
ขั้นเตรียมการ
๑. เตรียมหุ่นคือการเตรียมภาชนะเครื่องใช้ที่จะนำมาประดับมุก ในการนี้จะเป็นโต๊ะชุดรับแขกแบบลายฝัง นำมาขัดแต่งผิวให้เรียบร้อยพอสมควรด้วยกระดาษทราย โดยเฉพาะส่วนที่เป็นมุมจะได้รับการขัดแต่งแบ่งส่วนพื้นที่ที่จะประดับลายให้มีขนาดใกล้เคียงกัน
๒. เตรียมแบบลวดลายที่ต้องการให้เหมาะสมกับเครื่องใช้ที่จะประดับตกแต่ง ซึ่งควรศึกษาลวดลายต่าง ๆ ให้มีความเข้าใจอย่างชัดเจน และสามารถเลือกนำลายที่เหมาะสมมาใช้งานได้อย่างถูกต้องทั้งรูปแบบและตำแหน่ง ประการสำคัญจะต้องมีความเข้าใจการออกแบบลายมุกซึ่งมีความแตกต่างจากลายประเภทอื่นคือตัวลายจะขาดเป็นตัว ๆ เพื่อสะดวกในการสร้างงาน เนื่องจากเปลือกหอยมีความโค้งไม่สามารถวางลายลงบนพื้นเรียบได้ยาว จึงต้องตัดตอนเป็นช่วงสั้น ๆ เพื่อให้ลวดลายต่อเนื่องกัน หลังจากนั้นก็จัดเตรียมกระดาษลอกลายและกระดาษไขไว้ปรุลายลงกระดาษตามแบบที่ออกไว้
ขั้นดำเนินการ
๑. เขียนลายตามหุ่นโต๊ะลงบนกระดาษไขแล้วนำไปถ่ายเอกสารโดยเก็บไว้ใช้งาน ๓-๔ ชุด ชุดแรกเป็นแบบให้ตรวจดูสอบทานความเรียบร้อยในการประดับลาย ชุดที่สองให้ติดลายผนึกลงบนผิวชิ้นมุกด้วยกาวน้ำเพื่อทำการโกรกฉลุลายต่อไป ชุดที่สามใช้ประกอบการประดับลาย โดยเมื่อฉลุและขัดแต่งลายเรียบร้อยแล้ว ให้นำลายแต่ละชิ้นผนึกลงบนแบบชุดนี้เพื่อป้องกันผังลายสูญหายและสะดวกในการประดับลายลงบนชิ้นงาน
๒. นำมาตัดหรือโกรกฉลุลายมุก โดยใช้เครื่องฉลุของช่างทองขัดแต่งตัวลายที่ฉลุแล้วด้วยตะไบขนาดเล็กและกระดาษทราย เพื่อให้ขอบลายหมดคมของเลื่อยและได้รูปร่างสวยงามตามแบบ หลังจากนั้นจึงนำไปผนึกลายที่ขัดแต่งแล้วลงในแบบที่สามด้วยกาว (กาวน้ำ)
๓. เสร็จแล้วนำลายที่ติดกับแผ่นรองแล้วจึงทารักน้ำลงบนผิวภาชนะที่จะประดับมุกเพื่อรองพื้นและเป็นตัวประสานให้ลายมุกติดสนิทกับผิวโต๊ะมากยิ่งขึ้น เมื่อทารักแล้วต้องทิ้งให้แห้งสนิทหากมีร่องหรือรอยแตกจะต้องผสมรักสมุกอุดยาร่องให้เสมอผิวก่อน
๔. ปรุลายลงบนกระดาษตามแบบที่ออกไว้แล้วทำการตบฝุ่นโรยลายเช่นเดียวกับการเขียนลายกระดานของช่างลายรดน้ำ หลังจากนั้นลงมือประดับลายมุกตามแบบโรยฝุ่นที่ปรากฏบนผิวโต๊ะ โดยลอกลายจากแบบชุดที่สามออกมาประดับทีละตัว ครั้งนี้ใช้ยางรักเป็นตัวเชื่อมแทนกาวน้ำ เมื่อประดับเสร็จแล้วควรทิ้งไว้ให้แห้งสนิทก่อน
๕. ก่อนลงรักสมุกจะต้องทายางรักลงเคลือบบนตัวลายและผิวโต๊ะนั้น (ลงให้ทั่วโดยเฉพาะร่องระหว่างตัวลาย) ต่อจากนั้นผสมรักกับสมุก (สมุกคือผงถ่านบดละเอียดที่ได้จากการเผาใบตองแห้ง บางทีต้องการให้แข็งมาก ๆ จะใช้กะลามะพร้าวเผาแทน) ถมลงในร่องลายให้เต็มและถมทับให้ทั่วทั้งโต๊ะเสร็จแล้วทิ้งไว้ให้แห้ง
๖. เมื่อรักสมุกแห้งสนิทแล้วจึงทำการขัดแต่งด้วยกระดาษทรายอย่างหยาบก่อน แล้วตามด้วยกระดาษทรายละเอียดจนผิวเรียบเสมอกันจึงทิ้งไว้ให้แห้ง ขั้นสุดท้ายทำการขัดมันเคลือบเงา
อนึ่ง ระยะเวลาในการทำงานแต่ละชิ้นจะใช้เวลามาก ด้วยเป็นงานที่ต้องใช้ความประณีต ความละเอียดอ่อน บางชิ้นต้องทำเป็นปีกว่าจะได้ชิ้นงานที่สมบูรณ์แบบ จึงส่งผลให้งานช่างประดับมุกมีราคาแพง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแบบและลวดลายต่าง ๆ เป็นกรณี ๆ ไปด้วย ปัจจุบันงานช่างประดับมุกของนายพิษณุ แวกประยูร ทำงานอยู่ที่ ๑๑/๓๒ หมู่ที่ ๒ ถนนเศรษฐกิจ ซอย ๑๒ ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี โทรศัพท์ ๐๓๘–๗๙๙๐๑๔ ผลงานที่ทำเช่น บานประตู หน้าต่างโบสถ์ เฟอร์นิเจอร์ประดับบ้าน โต๊ะ ชุดรับแขก โต๊ะหมู่บูชา และเครื่องใช้ในงานพิธีสงฆ์ต่าง ๆ เป็นต้น
สรุปผลการวิเคราะห์
“งานช่างฝีมือประดับมุก” ที่ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี เมื่อพิจารณาวิเคราะห์ถึงภูมิหลังจะพบได้ว่า ช่างที่นี่มีพื้นฐานความรู้เชิงช่างจากย่านเสาชิงช้า กรุงเทพฯ ด้วยนายพิษณุ แวกประยูร ได้เคยผ่านการฝึกการทำงานทำมุกที่นี่แล้วจึงนำประสบการณ์ที่ได้รับมาประกอบกิจการส่วนตัวที่เมืองชลบุรีอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นเมื่อพิจารณาผลงานประดับมุกในหลาย ๆ ชิ้น ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีรูปแบบ ลวดลาย และกรรมวิธีทางช่างหลาย ๆ ด้านจะคล้ายคลึงกับช่างที่กรุงเทพฯไม่ว่าจะเป็นการทำบานประตูหน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะหมู่บูชา เป็นต้น กรณีเรื่องของภูมิปัญญาเชิงช่างค่อนข้างมีวิธีการเป็นไปในแนวทางของช่างหลวงมากกว่าเช่น การออกแบบลวดลาย หรือขั้นตอนการดำเนินการในแต่ละส่วนเองก็ตาม เป็นต้นว่าการทำหุ่น โกรกฉลุลาย ประดับลาย ถมรักสมุก จนถึงขัดแต่งผิว โดยความสัมพันธ์ต่อเนื่องในแต่ละขั้นตอนต่างแสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้ของงานช่างฝีมือประดับมุกได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งงานช่างประดับมุกเมื่อวิเคราะห์ตามลักษณะผลงานมีความยึดโยงกับประเพณีวัฒน-ธรรมและศาสนาเป็นอย่างมาก ช่างจะต้องมีพื้นความรู้และเข้าใจเนื้อหาสาระเรื่องราวต่าง ๆ ก่อนจะนำมาออกแบบหรือประดิษฐ์ลวดลายอะไรต่าง ๆ ได้แก่เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ วรรณคดี หรือกระทั่งสัตว์ในจินตนาการแบบไทย เช่น ราชสีห์ คชสีห์ กินรี กินนร ฯลฯ ทั้งนี้เนื่องจากงานช่างประเภทนี้มักนิยมนำไปใช้ประกอบเครื่องราชูปโภคและหรือประเพณีในราชสำนัก รวมถึงเป็นพุทธบูชาตามพระราชศรัทธาและพระราชประเพณีนิยมเป็นต้น ดังนั้นช่างจึงไม่สามารถจะคิดทำอะไรออกนอกกรอบได้มากนัก เว้นแต่ผลงานที่ทำขึ้นเพื่อใช้สอยภายในครัวเรือนช่างอาจมีความคิดพลิกแพลงได้บ้างตามโอกาส กรณีงานช่างประดับมุกเมื่อพิจารณาถึงลักษณะของข้อมูลจัดว่าเป็นข้อมูลทั่วไป มีการทำงานช่างประเภทนี้อยู่ทั่วไป และมีการบันทึกถอดรหัสองค์ความรู้ในกรรมวิธีการทำงานอยู่เป็นระยะ แม้ในสถาบันการศึกษาทางศิลปะก็มีการเปิดหลักสูตรให้นิสิตนักศึกษาได้ลงเรียนกันอยู่เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีรัตนโกสินทร์วิทยาเขตเพาะช่าง วิทยาลัยในวัง ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เป็นต้น
0 comments