ภูมิปัญญาไทย.com

ภูมิปัญญาไทย

การผลิตและทำ “ระนาด”



        ระนาด เป็นเครื่องดนตรีไทยสมัยโบราณชนิดหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานจนกระทั่งถึงปัจจุบัน  ระนาดยังเป็นเครื่องดนตรีไทยที่มีความสำคัญในวงดนตรีไทย  เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเพราะมีเสียงใสกังวาน มีลูกเล่นแพรวพราวในการบรรเลง  ซึ่งผู้บรรเลงต้องทำการฝึกฝนอย่างดีจนเกิดการประกวดแข่งขันความเป็นเลิศ เรียกว่า “ประชัน” ซึ่งเครื่องดนตรีที่ใช้ก็มีส่วนช่วยในการประชันเช่นกัน จึงต้องทำเครื่องดนตรีให้มีเสียงใสก้องกังวาน เสียงไม่เพี้ยนก็ขึ้นอยู่กับฝีมือช่างผู้ผลิต
        นายสมควร  วารีนิล  ชาวตำบลหน้าเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดปราจีนบุรี  เป็นช่างฝีมือพื้นบ้าน ผู้ผลิตเครื่องดนตรีคือระนาด มาเป็นเวลานานกว่า ๒๕ ปี  โดยได้รับการถ่ายทอดวิชามาจากผู้เป็นบิดา  ซึ่งก็ไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก จะผลิตก็เท่าที่มีผู้สั่งเท่านั้น เป็นการผลิตด้วยมือและทำคนเดียวทุกขั้นตอน    ซึ่งก็มีจำนวนไม่มากนักที่จะมีช่างฝีมือประเภทนี้  คือนอกจากผลิตได้เองทุกขั้นตอนแล้วยังมีความสามรถในการบรรเลงได้อย่างมืออาชีพอีกด้วยและยังหาทายาทผู้สืบทอดวิชาไม่ได้  จึงได้เก็บข้อมูลการทำระนาดของนายสมควร  วารีนิล นี้ไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป


      ดนตรีเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ให้ความงามซึ่งสัมผัสด้วยการได้ยิน  ดนตรีเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เริ่มมีความเจริญทางศิลปวัฒนธรรม  แต่มนุษย์ก็ให้ความสำคัญกับดนตรีจะเห็นว่ามนุษย์ทุกชาติ ทุกภาษาใช้ดนตรีในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ แต่ละชาติจึงคิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีที่แตกต่างกันออกไป
ระนาดเป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทตี (เครื่องดนตรีไทยมี ๔ ประเภท คือ ดีด สี ตี เป่า) ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า ๓๐๐ ปี คือระนาดหิน พบว่าที่อำเภอท่าศาลาจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายหลังได้พัฒนามาใช้ไม้ และคิดระนาดใหญ่โลหะเพิ่มเติมขึ้นมาอีก
เดิมระนาดผลิตจากไม้ไผ่ลำใหญ่มีเนื้อหนา เรียกว่าไผ่บง  ซึ่งเป็นที่นิยมเพราะให้เสียงดังดี ภายหลังเปลี่ยนมาใช้ไม้แก่น เช่น มะหาด ชิงชัน พยุง เป็นต้น เพราะแข็งแรง ทนทาน สวยงาม แต่เสียงจะเล็กและเบากว่า  ระนาดมี ๔ ชนิด
        ๑. ระนาดเอก  เป็นระนาดดั้งเดิมที่พัฒนามาจากกรับหลายขนาดลดหลั่นกันมาร้อยเชือก เรียกว่าผืนระนาด มี ๒๑-๒๒ ลูก นำไปแขวนบนรางรูปโค้งเพื่อช่วยอุ้มเสียง
        ๒. ระนาดทุ้ม  สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เพื่อตีคู่กับระนาดเอก มี ๑๗-๑๘ ลูก แขวนบนรางที่ราบไปกับพื้น  ลูกระนาดมีขนาดใหญ่จึงมีเสียงทุ้มกว่าระนาดเอก
        ๓. ระนาดเอกเหล็ก ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔  ลูกระนาดทำจากโลหะ     แขวนบนรางสี่เหลี่ยม  ลักษณะวิธีการบรรเลงเหมือนระนาดเอก
        ๔. ระนาดทุ้มเหล็ก  สร้างเพิ่มเติมขึ้นอีกสมัยรัชกาลที่ ๔  ใช้บรรเลงคู่กับระนาดเอกเหล็ก
        ภายหลังมีผู้พยายามคิดระนาดแก้ว  ลูกระนาดทำจากแก้วใส แต่เสียงไม่ดี จึงไม่มีผู้นิยมและเลิกไปในที่สุด
        นายสมควร  วารีนิล  ช่างฝีมือพื้นบ้านผู้ผลิตระนาดโดยไดไรับการถ่ายทอดความรู้มาจากบิดาที่เสียชีวิตไปแล้ว  ระนาด ๑ ชุดใช้เวลาผลิต ๑-๒ เดือน เพราะทำด้วยฝีมือทุกขั้นตอนและทำเพียงคนเดียว ยากตั้งแต่การหาไม้ที่หายาก ต้องไม่มีตำหนิ เป็นไม้แก่นแท้ๆ การทำงานต้องประณีตทุกขั้นตอน การทำงานมี ๓ ส่วนใหญ่ๆ คือ รางระนาด ผืนระนาด ไม้ตีระนาด
        รางระนาด  ทำจากไม้กระบาก หนาหนึ่งนิ้วครึ่ง กว้าง ๑๒ นิ้ว ยาว ๑.๓๐ เมตร จำนวน ๒ แผ่น  เลื่อยเป็นรูปโค้ง ขุดให้เป็นกระพุ้งเว้าทั้งข้าง  ตัดหัวท้ายอีก ๔๕ องศา  ปิดหัวท้ายด้วยโขนระนาด  ทำจากไม้หนา ๕ หุน ก้าง ๑๐ นิ้ว ยาว ๑๘ นิ้ว เลื่อยเป็นรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ ติดตะขอสำหรับแขวนผืนระนาดด้านละ ๒ ตัว  ปิดใต้รางด้วยไม้อัดหนา ๑๐ มิลลิเมตร  เสร็จแล้วติดเท้าระนาด(ฐานระนาด) ทำจากไม้หนา ๔ นิ้ว กว้าง ๘ นิ้ว เซาะให้มีขนาดเล็กลงเป็นชั้นๆ แล้วนำมาประกบกันเป็นรูปพานติดตรงกลางรางระนาดสำหรับเป็นฐานตั้ง
        ผืนระนาด  ทำจากไม้เนื้อแข็งหนาหนึ่งนิ้วครึ่ง กว้า ๕ เซนติเมตร ยาว  ลูกต้น(ลูกทั่ง)  ยาว ๔๐ เซนติเมตร  ลูกยอดยาว ๓๐ เซนติเมตร จำนวน ๒๑-๒๒ ลูก แต่งด้านบนให้โค้งเล็กน้อย คว้านท้องลูกระนาดให้บาง เพื่อการสั่งสะเทือนที่ดี และเพื่อปรับแต่งให้ได้ระดับเสียงพอดี ถ้าเสียงผิดพลาดจะใช้ขี้ถ่วง(ตะกั่วผสมขี้ผึ้ง) รนไฟติดที่ใต้ลูกระนาดหัวและท้ายภายหลังจากนั้น เจาะรูหัวท้ายข้างละ ๒ ลูก สำหรับร้อยเชือก
        ไม้ตีระนาด  ด้ามทำด้วยไม้ไผ่ ยาว ๓๕ เซนติเมตร เหลาให้กลมขนาดพอเหมาะ ติดตะกั่วที่หัวพันด้วยผ้าและมัดด้วยเชือกด้าย เสร็จแล้วพันผ้าทากาวทับอีกครั้ง  นำมาคลึงให้เรียบและกลม
        ปัจจุบันช่างฝีมือการทำระนาดมีน้อยมาก นายสมควร  วารีนิล  เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นที่ยังคงสืบสานงานช่างภูมิปัญญาไทยไว้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ นายสมควร  วารีนิล ยังไม่มีทายาทผู้สืบทอดวิชาช่างฝีมือการทำระนาดให้คงอยู่ต่อไปได้  ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า นายสมควร  วารีนิล จะเป็นคนสุดท้ายของตระกูลวารีนิลที่สืบทอดวิชาช่างแขนงนี้


    ดนตรี เป็นสื่อกลางแห่งความเข้าใจของคนทุกชาติที่ได้สัมผัส เสียงดนตรีทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่างได้ เป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจเบิกบานร่าเริง  มนุษย์เรามีสมองที่ฉลาดล้ำลึกสามารถประดิษฐ์เครื่องมือที่ทำให้เกิดเสียงต่างๆได้(เครื่องดนตรี)  อันได้แก่เสียง สูง กลาง เสียงต่ำ แล้วนำมาเรียบเรียงจนเกิดความไพเราะ มีอิทธิพลต่ออารมณ์ของมนุษย์อย่างมาก  จะเห็นได้ว่าทุกชาติ ทุกภาษา ทุกเผ่าพันธุ์ มีดนตรีด้วยกันทั้งนั้น แต่สิ่งที่แตกต่างกันไปก็คือเครื่องดนตรีที่คิดขึ้น
เครื่องดนตรีเป็นแหล่งกำเนิดเสียงดนตรีที่มนุษย์คิดค้นขึ้น ดังนั้นในแต่ละชนชาติอาจมีความแตกต่างกันไปตามความคิด สภาพแวดล้อมและวัสดุที่มีอยู่ในชาตินั้นๆ    เครื่องดนตรีมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าเสียงดนตรีเพราะเครื่องดนตรีมีบทบาทในชีวิตมาก่อน ในลักษณะสื่อสาร สัญญาณต่างๆ เช่น ตีเกราะ เคาะไม้ เป่าปาก เป็นต้น
        ดนตรี นอกจากจะให้ความเพลิดเพลินทางอารมณ์แล้วยังแสดงให้เห็นถึงความเจริญทางด้านศิลปะ วัฒนธรรมประจำชาติ เครื่องดนตรีรนอกจากจะเป็นแหล่งกำเนิดเสีนงที่มีความไพเราะแล้วยังเป็นศิลปะของแต่ละชาตีที่มีรูปร่าง สีสัน ลวดลายการผลิต ตลอดจนการบรรเลงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาตินั้นๆ
 ระนาดเป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ของคนไทย ซึ่งได้มีการพัฒนาปรับปรุงกันมาหลายยุคหลายสมัยจนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุก็มี หรืออาจนำรูปแบบของประเทศเพื่อนบ้านมาใช้   แต่ระนาดไทยก็ยังคงเอกลักษณ์ของไทย ทั้งรูปแบบ วิธีการบรรเลงที่มีลูกเล่นเม็ดพรายที่ไม่มีชาติชาติใดในโลกเสมอเหมือน ทั้งนี้เครื่องดนตรีจึงมีส่วนสำคัญอันดับแรกที่ทำให้เสียงดนตรีออกมาไพเราะได้
        ช่างผลิตเครื่องดนตรีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักดนตรี ซึ่งน้อยคนที่จะมีผู้กล่าวถึง ทำให้ศิลปะสาขานี้ลดจำนวนน้อยลงคงเหลือไว้แต่ที่สืบทอดทางสายเลือด  ลูกหลาน  หรือเพื่อนบ้านที่ยังรักในภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเช่นการทำระนาดของ นายสมควร  วารีนิล  ชาวตำบลหน้าเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดปราจีนบุรี  ถ้ายังหาผู้สืบทอดไม่ได้ งานช่างฝีมือพื้นบ้านแขนงนี้อาจหายไปจากจังหวัดปราจีนก็เป็นได้

การผลิตและวิธีทำระนาด

           งานช่างฝีมือพื้นบ้านด้านเครื่องดนตรีไทย  เรื่อง   การผลิตและวิธีทำ “ระนาด”  จังหวัดปราจีนบุรี   เป็นงานช่างฝีมือที่ได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ  และปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดสืบทอด  เพราะผลงานที่ผลิตขึ้นต้องรอให้ลูกค้าที่ต้องการมาสั่ง จึงจะผลิต และหาซื้อวัตถุดิบ  ยังเป็นอาชีพไม่ได้เพราะรายได้ไม่แน่นอน  และระยะการผลิต  ๑ ชุด ใช้เวลาประมาณ ๑-๒ เดือน (หากมีวัสดุครบ)
    ผู้ถ่ายทอด คือ นายคู   วารีนิล  ปัจจุบันไม่มีชีวิตแล้ว  ผู้รับการถ่ายทอด คือ นายสมควร  วารีนิล  ได้รับการถ่ายทอดประมาณ  ๒๕ ปี  ปัจจุบันเป็นเจ้าของผลงาน  ระนาดเอก และระนาดทุ้ม
              ชื่อช่าง        นายสมควร   วารีนิล
    เกิดวันที่        -   เดือน  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๔๗๖
    กลุ่มช่าง        ไม่มี
ที่อยู่ บ้านเลขที่      ๓๗๒/๒  ถนนแก้วพิจิตร  ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
              โทรศัพท์       ๐-๓๗๒๑-๔๒๙๐

  วัสดุที่ใช้ในการผลิต
    ๑   ลูกระนาด      เป็นตัวกำเนิดเสียง สมัยก่อนทำด้วยไม้ไผ่ที่เรียกว่า ไผ่บงหรือไผ่ตง ต่อมานำเอาแก่นไม้ เช่น ไม้ชิงชัน  ไม้มะหาด ไม้พยุง  เหลาและตกแต่งให้ได้ขนาดพอเหมาะ จำนวน ๒๑ – ๒๒ ชิ้น
    ๒  ไม้ตีระนาด    ไม้ตีระนาดมี  ๒ ลักษณะ คือ ไม้แข็ง หรือไม้นวม   ไม้แข็งมีเสียงดังแข็งกร้าว ซึ่งมักพันด้วยผ้าแล้วลงรักทับให้แข็ง  ส่วนไม้นวม มีลักษณะอ่อนนุ่ม ซึ่งพันด้วยผ้า เสียงที่ได้จะนุ่มนวล
    ๓   รางระนาด    นิยมทำด้วยไม้เนื้ออ่อนกว่าไม้ลูกระนาด เช่น ไม้กะบาก เพื่อความสวยงาม
    ๔   ลูกถ่วง (ขี้ถ่วง)  คือ สิ่งที่นำมาติดกับส่วนล่างของลูกระนาด เพื่อให้มีเสียงสูงต่ำตามต้องการ

 คำนิยามศัพท์ย่อย
    ๑   ผืนระนาด  คือ ส่วนที่เป็นลูกระนาดทั้งหมด จำนวน  ๒๑ – ๒๒ ลูก ร้อยติดกันด้วยเชือกเป็นฝืนระนาด
    ๒  ลูกระนาด  คือ ไม้ที่ตัดเป็นท่อนกว้างประมาณ ๒ นิ้ว ยาว ๑๖ นิ้ว หนา ๐.๕ นิ้ว
    ๓   ลูกต้น  คือ  ลูกระนาดลูกแรกของผืน เป็นลูกที่ยาวและใหญ่ที่สุด มีเสียงต่ำที่สุด
    ๔   ลูกยอด  คือ ลูกระนาดที่มีเสียงสูงที่สุด  เป็นลูกที่มีขนาดเล็กที่สุดและอยู่ท้ายสุดของผืนระนาด ยาวประมาณ ๑๒ นิ้ว กว้าง ๑.๖ นิ้ว หนา ๑ นิ้ว
    ๕  รางระนาด  คือ ส่วนที่รองรับผืนระนาด  มีลักษณะทำเป็นรางโค้ง  เพื่ออุ้มเสียงจากผืนระนาด
    ๖  ไม้ตี  คือ ส่วนที่ใช้สำหรับตีลูกระนาด  มี  ๒ อัน
    ๗  เจียน  หมายถึง  การทำไม้ให้เป็นลูกระนาด
    ๘  ลูกถ่วง  คือ สิ่งที่นำมาติดกับส่วนล่างของลูกระนาด  เพื่อให้มีเสียงสูงต่ำตามต้องการ
    ๙  โขน  คือ ส่วนที่ปิดหัวท้ายของรางระนาด
    ๑๐  เท้าหรือฐาน  คือ ส่วนที่รองรับรางระนาด

 แหล่งที่มาของวัสดุ
    หาไม้ต่างๆ ได้ในท้องถิ่น ในจังหวัดปราจีนบุรี
 เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต
๑   สว่านเจาะไม้ (แบบเครื่อง และแบบใช้มือ)
๒  กบไสไม้ (แบบเครื่อง และแบบใช้มือ)
๓  เครื่องตัดไม้
๔  เลื่อยหลายชนิด
๕  สิ่ว , ฆ้อน และเชือก
๖   สี  และน้ำมันขัดเงาต่างๆ

ขั้นตอนกระบวนการผลิตและวิธีทำ

ขั้นที่ ๑    การทำรางระนาด
            นำแผ่นไม้หนา ๑  นิ้วครึ่ง  กว้าง ๑๒ นิ้ว ยาว ๑.๓๐ เมตร.  เหมือนกันจำนวน ๒ แผ่น  ใช้ดินสอวาดตามความโค้งของรูปไม้กระสวนแล้วไปเลื่อยออกด้วยเลื่อยมือ ให้ได้รูปโค้งของรางระนาด  ใช้เลื่อยตัดรูปโค้งตามรอยเส้นที่วาดไว้  ส่วนหัวกับท้ายตัดเอียง ประมาณ ๔๕ องศา เมื่อเสร็จแล้วนำไปแต่งให้กระพุ้งด้านในเว้าออกโดยวิธีขุดท้องของระนาดโดยใช้กบไฟฟ้าค่อยๆ ไสเนื้อไม้ออกทีละน้อย  เมื่อทำกระพุ้งเว้าเสร็จแล้ว   นำไม้อัดหนา ๑๐ ม.ม. แปะใต้รางระนาดดัดให้ได้ตามความโค้งของรางระนาด เพื่อทำเป็นท้องระนาด
ขั้นที่ ๒  การทำโขนระนาด
        แผ่นไม้ที่จะนำมาทำโขนระนาดมีความกว้างประมาณ ๑๐ นิ้ว ยาว ๑๘ นิ้ว และหนาประมาณ ๕ หุน จำนวน ๒  แผ่น นำมาไสด้วย กบไสไม้  ให้เรียบเสมอกันแล้วนำแบบพิมพ์    รูปโขนระนาดมาวางทาบบนแผ่นไม้ใช้ดินสอขีดเส้นตามแบบพิมพ์รูปโขนระนาด และนำไปเลื่อยตามรอยเส้นดินสอ เมื่อเสร็จใช้กระดาษทรายขัดให้เรียบใช้สิ่วตอก ลบเหลี่ยมตามขอบ นำไปประกอบเข้ากับรางระนาดส่วนหัวและท้ายเหมือนกันทั้งสองด้าน



ขั้นที่ ๓  การทำฐานระนาด (เท้าระนาด)
             ใช้ไม้หนา ๔ นิ้ว  กว้าง ๘ นิ้ว วาดลายฐาน  จำนวน ๒ แผ่น แผ่นแรกเป็น    รูปสี่เหลี่ยม นำไม้แผ่นแรกมาถากออกทั้ง  ๔  ด้าน  โดยใช้สิ่วถากจากด้านบนให้เล็กชันลงไปหาด้านล่างให้ด้านล่างมีขนาดเท่าเดิม  ต่อจากนั้นใช้สิ่วเล็กขุดเนื้อไม้ออก   แผ่นที่สอง  ใช้สิ่วแต่ง      ให้ลักษณะเหมือนไม้แผ่นแรกแต่ต้องให้ด้านล่างมีฐานเล็กกว่าด้านบน และให้ด้านล่างของไม้ชิ้น   ที่สองมีขนาดเท่ากัน  เมื่อเสร็จแล้วนำไปติดที่ใต้ท้องกึ่งกลางของรางระนาด ใช้ตะปูตอกยึดเพื่อ    ไม่หลุด
ขั้นที่ ๔   การเหลาลูกระนาด
          ใช้ไม้เนื้อแข็งหนา ๑ ½ นิ้ว  ใช้ดินสอขีดเส้นกว้าง ๕ ซม.  ยาว ๔๐ ซม.  ลูกต้น และส่วนลูกท้ายกว้าง ๕ ซม. ยาว ๓๐ ซม.  ใช้เลื่อยผ่าตรงเส้นที่ขีดไว้  ตัดเป็นท่อน จำนวน ๒๑ – ๒๒ ลูก
          การไสข้างลูกระนาด  ต้องเริ่มไสด้านข้างให้เรียบและได้ระดับเท่ากันทั้งสองข้าง  วิธีการไส ต้องตีเส้นบนลูกระนาดทั้งสองข้างแล้วใช้กบไฟฟ้าไสเนื้อให้เรียบ และใช้กบมือไสต่อจนถึงแนวเส้นที่ตีไว้และนำไม้บรรทัดปรอทมาจับเพื่อเกิดความเที่ยงตรง
          การปาดและตัดหัวท้ายของลูกระนาด  ให้ตัดเกลาหัวและท้ายของลูกระนาดให้มีความยาว คือ ลูกทั่งหรือลูกที่มีเสียงต่ำสุดให้ยาวประมาณ ๑๖ – ๑๗ นิ้ว ส่วนลูกยอดหรือลูกที่มีเสียงสูงสุดให้ยาวประมาณ ๑๑ – ๑๒ นิ้ว
ขั้นที่ ๕   การคว้านพื้นท้องของลูกระนาด
           การคว้านพื้นท้องของลูกระนาด คือ การบากหรือการคว้านพื้นท้องลูกระนาดตรงกลางลูก  เพื่อปรับแต่งเสียงให้ได้ระดับตามความต้องการ 
        วิธีคว้านพื้นท้องลูกระนาด ใช้สิ่วถากเนื้อไม้ออก ใช้กระดาษทรายขัดให้เรียบ
ขั้นที่  ๖    การเจาะรูสำหรับร้อยเชือก
          การที่จะเจาะรูลูกระนาดเพื่อร้อยเชือกติดกันให้เป็นผืนระนาด จะต้องวัดขนาดของลูกทั่ง และลูกยอดโดยใช้ไม้บรรทัดตีเส้นแนวสำหรับเจาะรู  ตั้งแต่ลูกยอดทั้งสองข้าง และวัดความกว้างของลูกระนาดตรงแนวเส้นที่ขีดไว้ทุกลูก  ใช้ดินสอจุดตรงที่เจาะรูไว้บนเส้นที่ตีให้ห่างจากด้านข้างทั้งสองข้างมาหารูที่จะเจาะข้างละ ๑ ส่วน 
        การเจาะรูในครั้งแรกจะใช้สว่านเล็กเจาะรู  ไม่ต้องเจาะให้พอดีกับเชือกเพราะจะทำให้ผิวไม้แตก  และเป็นขุย โดยเจาะด้วยสว่านเล็กนำก่อน 
ขั้นที่  ๗    ร้อยเชือกผืนระนาด
           ผืนระนาด เป็นส่วนสำคัญที่สุดของระนาด  เพราะเป็นส่วนที่ทำให้เกิดเสียงดนตรีอันไพเราะ  เสียงของระนาดจะไพเราะน่าฟัง  ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้บรรเลง
        ผืนระนาด  คือลูกระนาดหลายๆ ลูกที่นำมาเจาะรูร้อยเชือกเรียงติดกันในแนวนอนโดยหันส่วนโค้งของผิวลูกระนาดขึ้นด้านบนและเรียกลูกระนาดที่ร้อยเชือกติดกันเหล่านี้ว่า         ผืนระนาด  โดยทั่วไปผืนระนาดจะมีลูกระนาดจำนวน  ๒๑ ลูก บางครั้งก็ใช้ ๒๒  ลูกแล้วแต่ความนิยม
ขั้นที่  ๘  การติดขี้ถ่วงหรือลูกถ่วง
              ติดขี้ถ่วงหรือลูกถ่วงใต้ท้องลูกระนาด   นำขี้ถ่วงปั้นเป็นก้อนกลมแบน  ลนไฟให้ร้อน เพื่อติดที่ไม้ลูกระนาด   บริเวณใต้ท้องทั้งสองข้างขนาดเท่ากัน   เพื่อถ่วงเสียงให้ได้เสียงตามตัวโน๊ตที่ต้องการ
ขั้นที่  ๙    การทำไม้ระนาด ไม้แข็งและไม้นวม
        เมื่อเลือกไม้ได้ตามความต้องการแล้ว นำมาผ่าและปรับแต่งให้เป็นท่อนขนาดพอเหมาะเหลาให้มีขนาดประมาณ  ๓๕ เซนติเมตร
๑.   นำตะกั่วมาติดบนหัวไม้ที่เหลาได้ขนาดและน้ำหนัก
๒. ใช้ผ้าเนื้อหยาบพันรอบหัวไม้ประมาณ ๔ รอบ ถ้าต้องการให้หัวไม้แข็ง
        ควรพันผ้าน้อยกว่า ๔ รอบ ใช้กาวลาเท็กซ์ทาริมผ้า
๑.    นำเส้นด้ายมาพันเหมือนตาข่าย ๑ รอบ
๒.    เพิ่มความกว้างของผ้าแล้วพันหนึ่งรอบ
๓.    ติดตะกั่วบนด้านในและด้านนอกของหัวไม้
๔.    เมื่อพันผ้าและพันด้ายครบตามจำนวนตัดผ้าสีเป็นวงกลมติดด้านบนและด้านล่างของหัวไม้และพันด้ายอีกรอบ
๕.    ตัดผ้าขาวและพับริมทั้งสองข้างวัดให้มีขนาดเท่าหัวไม้ระนาด
        ทาด้วยกาวลาเท็กซ์
๖.    นำมาคลึงกับพื้นที่เรียบ  เพื่อให้หัวไม้ที่ทำเสร็จแล้วเรียบเท่ากันทุกส่วน


สรุปผลการวิเคราะห์

เสียงดนตรี เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่มีความละเอียดอ่อนสามารถเข้าถึงอารมณ์และจิตใจของมนุษย์  จึงมีการคิดค้นแหล่งกำเนิดเสียงชนิดต่างๆไว้มากมายตามสภาพแวดล้อมภูมิประเทศยาวนานหลายพันปีและพัฒนาสืบทอดกันเรื่อยมา เครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดคือประเภทเครื่องตี  มนุษย์ย่อมคิดสิ่งที่ง่ายและใกล้ตัวได้ก่อน การปรบมือ การเคาะให้เกิดเสียงก็ถือว่าง่ายและใกล้ตัวมากที่สุด
ระนาด ถือเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทย มีต้นกำเนิดมาจากระนาดหิน พบที่แหล่งโบราณคดีริมฝั่งคลองกลาย หมู่ที่ ๗ ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช  อายุประมาณ ๓,๐๐๐ ปี มีลักษณะเป็นขวานหินยาว
ระนาด วิวัฒนาการมาจากกรับหรือเกราะ ที่เคาะเป็นจังหวะได้เสียงเดียว เมื่อทำให้มีขนาดลดหลั่นกันเกิดเป็นเสียงหลายเสียง เพิ่มความไพเราะและสนุกสนานมากขึ้น จึงนำมาร้อยต่อกันเป็นผืน ส่วนที่เรียกว่าระนาดอาจมาจากคำว่า ราด ซึ่งหมายถึงเอียง คล้ายกับคำว่า ราบ คือเรียบสม่ำเสมอหรือเรียกว่าระนาบ ส่วนราด จึงเรียกว่า ระนาด พื้นผิวของระนาดที่ลักษณะเป็นคลื่นยังมีผู้นำไปเปรียบเทียบสิ่งที่พื้นไม่เรียบว่าเหมือนลูกระนาด  นั่นหมายความว่า ระนาด มีประวัติที่ยาวนานและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
        รูปร่างของระนาดมีลักษณะคล้ายเรือโบราณ  ผืนระนาดเดิมนิยมทำมาจากไม้ไผ่บง ซึ่งมีลำใหญ่เนื้อหนา นำมาตัดและถากเนื้อไม้นำมาตัดและถากเนื้อไม้ตรงกลางออกเพื่อเป็นการแต่งเสียงสูง-ต่ำ  และการมีเนื้อไม้ตรงกลางบางลงจะช่วยให้สั่นสะเทือนได้ดีมีเสียงดังมากขึ้น รวมถึงการไปติดขี้ถ่วงที่ทำจากตะกั่วผสมกับขี้ผึ้ง ติดที่ใต้ลูกระนาดหัว-ท้าย เพื่อปรับตั้งเสียงให้ได้ระดับ และยังช่วยในการสั่นสะเทือนด้วยเช่นกัน ผงตะกั่วเป็นโลหะที่มีน้ำหนักแต่เนื้อนุ่มไม่สามารถยึดติดกับไม้ได้จึงนำมาผสมกับขี้ผึ้งซึ่งมีคุณสมบัติเหนียวเมื่อถูกความร้อนจึงสามารถยึดเกาะติดกับไม้ได้นี่เป็นภูมิปัญญาไทย  เมื่อนำผืนระนาดมาแขวนตีบนรางไม้ที่เตรียมไว้  รางไม้จะช่วยอุ้มเสียง ทำให้ดังก้องกันวานมากขึ้น  เครื่องดนตรีไทยเกือบทุกชนิดไม่มีอุปกรณ์ช่วยขยายเสียงแต่จะใช้วิธีการทำโพรงช่วยสะท้อนให้เสียงดังมากขึ้น วิธีทำรางระนาดในสมัยโบราณใช้วิธีการนำต้นไม้ทั้งต้นมาขุดเป็นรางเหมือนการขุดทำเรือในสมัยโบราณโบราณ แต่ทำให้มีขนาดพอดีกับผืนระนาด หัวกับท้ายเหมือนหัวเรือมาดที่เชิดขึ้นใช้สำหรับแขวนฝืนระนาด ตรงกลางที่ป่องออกยิ่งช่วยให้อุ้มเสียงได้มากทำให้เสียงดังมากขึ้น ปัจจุบันถึงจะใช้วิธีการนำไม้เป็นแผ่นมาประกบกันเป็นรางก็ยังคงรูปลักษณ์เดิมไว้ และใช้วิธีการถากแผ่นไม้ทั้งสองข้างให้ตรงกลางป่องออกและใช้ไม้ปิดหัวท้าย เรียกว่าโขนระนาด  ทำเป็นรูปทรงลายไทยพุ่มข้าวบิณฑ์ จึงทำให้ระนาดมีรูปร่างคล้ายเรือโบราณ
        ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาของช่างฝีมือคนไทยในการคิดและประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทย  นายสมควร  วารีนิล ช่างฝีมือผู้เป็นทายาทสืบทอดการทำระนาดไทยมาจากผู้เป็นบิดา ด้วยข้อจำกัดทางรูปร่าง ลักษณะ หลักการ วิธีการเฉพาะอย่างของเครื่องดนตรีไทยที่เป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว นายสมควร  วารีนิล  จึงเป็นเพียงช่างฝีมือผู้ผลิตเพื่อให้ผลงานออกมามีคุณภาพเท่านั้น  โดยใช้ความชำนาญทางช่างไม้ประสานกับความรู้ความสามารถในเรื่องดนตรี มาช่วยแก้ปัญหาในการผลิตซึ่งนายสมควร  วารีนิล ก็สามารถทำได้เป็นอย่างดี  ในปัจจุบันมีโรงงานผลิตเครื่องดนตรีที่มีเครื่องมือในการผลิตที่ทันสมัยผลิตได้รวดเร็วและมีความสวยงามแต่จะหาช่างฝีมือพื้นบ้านที่สามารถผลิตด้วยมือทุกขั้นตอนและยังมีความสามารถในการบรรเลงคงไม่ง่ายนัก  ฉะนั้นข้อมูลในการผลิตเครื่องดนตรีระนาดของ นายสมควร  วารีนิล จึงจัดอยู่ในรูปแบบข้อมูลทั่วไปที่ควรเก็บไว้ศึกษาค้นคว้าต่อไป

0 comments

Post a Comment