การสานไซ สานข้อง
การสานไซปลอกห้า สองงาน ของลุงต่วน รอหันต์ และการสานข้องเป็ด ของลุงนา อุ่นใจ ชาวตำบลโพธิ์งาม ตำบลประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
ไซปลอกห้า สองงาน ของลุงต่วน รอหันต์ นั้น มีลักษณะพิเศษคือใช้ตอกสาน ๕ เส้น ตอกยืน ๑๐๐ เส้น และมีส่วนที่ตักปลาเข้าไซที่เรียกว่างา ๒ ข้าง ส่วนข้องเป็ด เป็นการสานข้องใส่ปลาและขัดให้เป็นรูปร่างคล้ายเป็ด ติดทุ่นไม้ไผ่ลอยน้ำได้ ซึ่งนับว่าเป็นงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างรูปทรงจากรูปทรงเรขาคณิตให้กลายเป็นรูปทรงอิสระคล้ายรูปสัตว์จัดเป็นงานศิลปหัตถกรรม ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
การจัดเก็บข้อมูล การสานไซปลอกห้า สองงาน และข้องเป็ด ของลุงต่วน รอหันต์และลุงนา อุ่นใจ นี้ เป็นการบันทึกภูมิปัญญาท้องถิ่นของงานช่างฝีมือที่มีความประณีต สวยงาม และมีจินตนาการแฝงมาในชิ้นงานมากกว่าทำขึ้นเพื่อใช้สอยอย่างเดียว เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป
ไซปลอกห้า สองงาน ของลุงต่วน รอหันต์ และข้องเป็ด ของลุงนา อุ่นใจ เป็นเครื่องมือดักจับและใส่สัตว์น้ำ ที่ทำขึ้นจากการสานไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติพื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรีที่มีแหล่งปลูกอยู่มากมาย ช่างฝีมือทั้งสองสร้างชิ้นงานขึ้นด้วยฝีมือที่ประณีต สวยงาม จากทักษะของการฝึกฝนมาเป็นเวลานาน จากการสืบทอดต่อๆกันมาจากบรรพบุรุษ
ไซ เป็นเครื่องดักและจับสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปลา ฯลฯ สานด้วยไม้ไผ่เป็นซี่ถี่ๆ รูปร่างต่างๆกัน ด้านหน้ามีงา สำหรับให้กุ้งหรือปลาเล็กๆเข้า ไซใช้ดักตามทางน้ำไหลไม่ลึกนัก โดยใช้เฝือกซึ่งเป็นไม้ไผ่ซี่ๆ ถักเป็นแผงยาวๆกันทางน้ำไหล เว้นช่องเล็กๆไว้ให้ปลาเข้าไซ การดักไซต้องวางหน้าไซประกบติดเฝือกตรงช่องที่เจาะไว้ และหันตามน้ำเพื่อให้กุ้ง ปู ปลา ฯลฯ ที่ว่ายทวนน้ำเข้าไปติดในไซ ส่วนข้อง เป็นเครื่องจักสานสำหรับใส่ปลาหรือสัตว์น้ำ มีรูปร่างต่างกันไปตามการใช้สอย มีปากกลม มีงาเป็นฝาปิด บางครั้งมีทุ่นขนาบเพื่อให้ลอยน้ำได้
การสานไซ ปลอกห้า สองงา เป็นหัตถกรรมที่เกิดจากการนำวัสดุในท้องถิ่นที่มีอยู่มาก คือไม้ไผ่นำมาจักเป็นตอกและสานเป็นรูปทรงกระบอก แต่มีลักษณะพิเศษแปลกกว่าที่อื่น คือ ใช้ตอกสาน ๕ เส้นและตอกยืน ๑๐๐ งา มีงา ๒ งา ส่วนใหญ่จะเห็นมีเพียงงาเดียว ส่วนข้องเป็ด เป็นการสานเครื่องมือใช้ใส่ปลา ที่ช่างฝีมือมีจินตนาการดัดรูปทรงให้คล้ายเป็ด พร้อมติดทุ่นไว้ที่ข้างข้อง เพื่อให้ลอยน้ำได้ สะดวกในการลากจูงไปในขณะหาปลาในน้ำ นับว่าเป็นงานศิลปหัตถกรรม ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างด้วยความประณีตเพื่อใช้สอยแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยความรู้สึกนึกคิด จินตนาการและภูมิปัญญา เกิดความรู้สึกประทับใจเมื่อได้พบเห็นงานจักสาน ทั้ง สองอย่างนี้
ปัจจุบันไซปลอกห้า สองงา และข้องเป็ดหาดูได้ยาก เนื่องจากอาชีพหาปลาหรือสัตว์น้ำ ในชนบทเริ่มลดน้อยลง คนรุ่นใหม่หันไปยึดอาชีพทำงานในโรงงาน ช่างฝีมือที่จักสานก็ไม่ได้รับการถ่ายทอดให้มีต่อไป เนื่องจากทำยาก ใช้เวลามาก ราคาถูก และยังไม่มีตลาดรับซื้อแน่นอน ตลาดส่วนหนึ่งที่พบเห็นเป็นการนำเครื่องจักสานนี้ไปตกแต่ง ประดับอาคารเสียมากกว่าที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำ ซึ่งมีอุปกรณ์ใหม่ๆและวิธีการใหม่ๆ มาใช้ จึงทำให้นับวันงานจักสานนี้จะสูญหายไป สมควรแก่การบันทึกข้อมูลก่อนที่จะสูญหาย
ไซปลอกห้า สองงาน และข้องเป็ดเป็นงานหัตถกรรมและศิลปหัตถกรรม ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้สอยในการหาปลาและสัตว์น้ำ เป็นภูมิปัญญาของช่างฝีมือที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ
แต่กระนั้น ก็ยังมีการใส่จินตนาการให้ดูมีความคิดและจิตนาการ พัฒนารูปร่างให้ประณีต สวยงาม แปลกตา ทรงคุณค่า แก่การใช้สอยและเก็บรักษา
การจักสานไซปลอกห้า สองงา และข้องเป็ด เกิดจากการนำวัสดุในท้องถิ่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติของจังหวัดปราจีนบุรี คือไม้ไผ่ ที่นอกจากจะได้หน่อมาเป็นอาหารแล้ว ยังนำลำต้นมา
จักตอก และสานเป็นงานหัตถกรรมต่างๆ เพื่อใช้สอยในชีวิตประจำจันวัน
ไซปลอกห้า สองงาน ของลุงต่วน รอหันต์ ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งมีลักษณะพิเศษ นอกจากความประณีต สวยงามแล้ว ยังเพิ่มงา ซึ่งเป็นทางเข้าไซ เพิ่มขึ้นเป็น ๒ งา หรือ ๒ทาง แสดงถึงภูมิปัญญาในการสร้าง ซึ่งอาจจะแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของปลาในชุมชนของช่างในอดีตก็ได้ ส่วนข้องเป็ด ของลุงนา อุ่นใจ เป็นงานศิลปหัตตกรรม
ที่นอกเหนือจากการสร้างงานหัตถกรรมทั่วไป เพื่อประโยชน์ใช้สอยแล้ว ยังใส่ภูมิปัญญาและจินตนาการ เรื่องรูปร่างรูปทรงจากเป็ดซึ่งลอยและว่ายน้ำได้นำมาประดิษฐ์เป็นข้องใส่ปลาที่ลอยและลากตามไปขณะจับปลาในน้ำได้ มีความงดงาม ประทับใจ น่าใช้สอยอีกด้วย
ปัจจุบันงานหัตถกรรมและศิลปหัตถกรรม เครื่องจักสานที่ใช้ในการหาปลาและสัตว์น้ำ เริ่มสูญหายไป ด้วยเหตุ การทำอาชีพนี้ลดลง ประกอบกับมีการจับปลาและสัตว์น้ำ ด้วยวิธีการและเครื่องมือใหม่ๆ หรือเปลี่ยนอาชีพไปทำงานตามโรงงานกันหมด ส่งผลให้ ช่างฝีมือพื้นบ้านลดจำนวนลง และขาดการสืบทอดอย่างกว้างขวาง
การเก็บข้อมูล ไซปลอกห้า สองงา และข้องเป็ด จึงมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ
๑. ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของไซปลอกห้า สองงา และข้องเป็ด
๒.เพื่อการอนุรักษ์งานจักสานฝีมือพื้นบ้านในท้องถิ่น
๓. เพื่อให้งานหัตถกรรมและศิลปหัตถกรรม เป็นที่รู้จักและแพร่หลายออกไป
การสานไซปลอกห้า สองงา และข้องเป็ด ตำบลโพธิ์งาม อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี นับเป็นศิลปะงานจักสานฝีมือ สาน ถัก และสอด จนเป็นรูปร่างของชิ้นงาน เป็นงานฝีมือที่ยอมรับในท้องถิ่น เพราะผลงานที่ปรากฏจะมีรูปทรง และลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ พร้อมแสดงถึงความเป็นเลิศทางด้านภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นฝีมือ การสานไซปลอกห้า สองงา และข้องเป็ด ซึ่งมีลวดลายหลากหลายรูปแบบ มีความสวยงาม อ่อนช้อยยอดเยี่ยมของคนพื้นบ้าน มีการพัฒนาฝีมือจักสานให้ปรากฎถึง ความประณีต สวยงาม
การสานไซปลอกห้า สองงา และข้องเป็ด เป็นฝีมือของคนเก่าแก่พื้นบ้าน ซึ่งมีการสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในปัจจุบันมีผู้เฒ่า ผู้แก่ อนุรักษ์รักษาไว้ นั่นก็คือ คุณลุงต่วน รอหันต์ มีความถนัดในการสานไซปลอกห้า สองงา และคุณลุงนา อุ่นใจ มีความถนัดด้านการสาน ข้องเป็ด ซึ่งการสานไซ และข้องเป็ด ถือได้ว่าเป็นงานฝีมือจักสานที่เก่าแก่ที่สุด เพราะคนทั่วไปส่วนใหญ่จะสานไซงาเดียว และข้องธรรมดา แต่คุณลุงทั้งสองยังอนุรักษ์รักษาฝีมือการสานไซ ปลอกห้า สองงา และข้องเป็ด
ลักษณะพิเศษของไซปลอกห้า สองงา คือ การใช้ตอกสานห้าเส้น ตอกยืน ๑๐๐ เส้น และใส่งา สองข้าง งา หมายถึง ส่วนที่สำหรับดักปลาเข้าไซ โดยทั่วไปจะมีเพียงหนึ่งงา และข้องเป็ด คือ การสานข้องและดัดให้เป็นรูปร่างคล้ายเป็ด และมีทุ่นติดสองข้างเพื่อสำหรับลอยน้ำได้
ช่างฝีมือ นายต่วน รอหันต์
เกิดวันที่ ๑๐ เดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
ที่อยู่ บ้านเลขที่ ๗๑/๑ หมู่ที่ ๓ ตำบลคำโตนด อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
ได้รับการสืบทอดงานฝีมือมาจากบรรพบุรุษ คือ นายคำ รอหันต์ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว โดยได้รับการสืบทอดผลงานเป็นเวลา ๖ ปี
ช่างฝีมือ นายนา อุ่นใจ
เกิดวันที่ - เดือน สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
ที่อยู่ บ้านเลขที่ ๔๙ หมู่ที่ ๑ ตำบลโพธิ์งาม อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
ได้รับการสืบทอดงานฝีมือมาจากบรรพบุรุษปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว โดยได้รับการสืบทอดผลงานเป็นเวลา ๔๐ ปี
ไม้ไผ่บ้านหรือ ไม้ไผ่สีสุก
ไม้ไผ่บ้าน เป็นไม้ไผ่ที่มีอยู่ทั่วไปในท้องถิ่น ซึ่งไม้ไผ่บ้านสามารถนำมาจักสาน ของใช้อื่น ๆ ได้อีกหลายอย่าง เช่น กระด้ง กระบุง กระจาด ตะกร้า เป็นต้น
วัสดุที่ใช้ในการผลิตผลงาน
๑. ไม้ไผ่บ้าน หรือไม้ไผ่สีสุก
๒. เถาวัลย์ หรือเชือกพลาสติก
แหล่งที่มาของวัสดุ
ในท้องถิ่น คือ ตำบลโพธิ์งาม อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต
๑. มีดเหลาตอก
๒. มีดอีโต้ สำหรับผ่าไม้ไผ่
๓. ขวาน และเลื่อยโค้ง
ขั้นตอนกระบวนการผลิตและวิธีทำ
ขั้นเตรียมการ
มีขั้นตอนต่างๆ ได้แก่
๑. ตัดไม้ไผ่บ้าน ลำแก่ๆ เพราะจะมีความทนและผิวไม้แข็งดี
๒. ตัดไม้ไผ่บ้านเป็นท่อน ๆ ท่อนละ ๑.๕๐ เมตร.
๓. เมื่อตัดไม้ไผ่เป็นท่อน ๆ แล้ว นำมาเหลาตาและข้อของไม้ไผ่ออกให้หมด
๔. ผ่าไม้ไผ่ออกเป็นซีกๆ และเหลาแต่ง
๕. นำไม้ไผ่ที่ผ่าเป็นซีก ๆ มาจักตอกเป็นเส้น ๆ ตามขนาดของงานสาน
๖. นำเส้นตอก มาเหลาแต่งเป็นตอกยืน และตอกสาน เหลาเนื้อด้านในของไม้ไผ่ ออกเกือบทั้งหมด ให้เหลือผิวไม้ไผ่ด้านนอก เพราะผิวไม้ไผ่ด้านนอกจะมีความทนทาน
ขั้นตอนการผลิต
มี ๒ ตอน คือ
ตอนที่ ๑ การสานไซ ปลอกห้า สองงา
๑. เมื่อเหลาตอกยืน เป็นเส้นๆ จำนวน ๑๐๐ เส้น เสร็จแล้ว นำเชือกมัดส่วนหัว ไว้ให้แน่น เหลือตอกไว้ ประมาณ ๓ นิ้ว และหันส่วนปลายเข้าหาตัว ดัดตอกทีละเส้นให้เป็นเกลียว หันออกไปทางด้านหน้า เมื่อดัดตอกทุกเส้นเสร็จแล้ว นำเชือกมาสานเพื่อยึดไม่ให้ไม้ไผ่ที่ดัดไว้ขยับเขยื้อน
๒. ใช้ตอกสาน เสียบลงที่ตอกยืนเว้นตอกยืน ๒ เส้น แล้วเสียบตอกสาน จำนวน ๕ เส้น ตอกสาน ๕ เส้น นี้ เรียกว่า ไซปลอกห้า
๓. เมื่อเสียบตอกสานเสร็จแล้ว สานตัวสองขัดหนึ่ง ยกตอกยืนสี่เส้น ตัวหลัง ยกตอกยืนห้าเส้น สานในลักษณะนี้ไปจนกระทั่งสุดเส้นตอกสาน เมื่อตอกสานหมดเส้น จึงเสียบตอกสานเส้นใหม่ แล้วสานไปจนกระทั่งสุดปลายของปากไซ
๔. นำไม้ไผ่เหลาแบน ใหญ่ประมาณ ๑ นิ้ว นำมามัดใส่ที่ไซ ใช้เชือกมัดให้แน่น เพื่อสำหรับเจาะรู ใส่งา และขอบส่วนนี้สำหรับยึดงาให้แน่น
การสานงา ใส่ไซ
๑. วางตอกเหลาแบนที่พื้น จำนวน ๔ เส้น ใช้เท้าเหยียบให้แน่น ไม่ให้ขยับเขยื้อน นำตอกสานเส้นเล็ก สานสลับไปมาจนกระทั่งได้ขนาดของชิ้นงาน
๒. นำส่วนปลายของงาที่สานเสร็จแล้ว มารวบปลายเข้าหากันและใช้ตอกส่วนปลายสานเป็นลายขัด
๓. นำมีดคมๆ ตัดไซ ส่วนที่จะใส่งา ตัดให้เท่ากับขนาดของปากงา
๔. เมื่อตัดเสร็จใช้มีดง้างเพื่อให้มีช่อง แล้วเสียบส่วนแหลมของงาเข้าไป ให้ขอบพอดีกับขอบของไซ
๕. มีดตัดตอกยืนของงา ส่วนปลาย ตัดให้แหลม และเสียบขัดที่ตัวไซ เพื่อยึดงา ให้ติดกับไซให้แน่น เหลาไม้ไผ่กลมทำปลายแหลมทั้งสองด้าน เสียบยึดฐานงาติดกับไซให้แน่นอีก ๑ ชิ้น
๖. ส่วนขอบงาและขอบไซนำเชือกมัดยึดให้แน่น (ทำเหมือนกันทั้งสองงา)
ตอนที่ ๒ การสานข้องเป็ด
๑. ตัดไม้ไผ่เป็นท่อน ท่อนละ ๑ เมตร ผ่าเป็นซีก ๆ ประมาณซีกละ ๑ เซนติเมตร นำมาเหลาแบน ๆ ให้อ่อน เหลาให้เหลือส่วนผิวนอกของไม้ไผ่ การเหลาไม้ไผ่ส่วนนี้เรียกว่า เหลาตอกยืน
๒. เหลาไม้ไผ่เส้นยาว เรียกว่า ตอกสาน ยาวประมาณ ๒ เมตร
๓. เมื่อเหลาตอกยืน และตอกสาน เสร็จแล้ว นำตอกยืนวางเรียงที่พื้น วางราบ ที่พื้น ๑๐ เส้น ส่วนหัวตอกยืนใช้เท้าเหยียบ และส่วนปลายใช้ไม้ทับ ไม่ให้ขยับเขยื้อน เส้นขัด สานเป็นลายขัด ๑๐ เส้น ส่วนนี้เรียกว่า ก้นข้องเป็ด
๔. เมื่อสานลายขัดก้นข้องเป็ดเสร็จแล้ว นำไม้ปลายแหลมเสียบเป็นกากบาท ทับกัน จำนวน ๒ ชิ้น ขัดที่พื้นของก้นข้องเป็ด เพื่อยึดให้ก้นข้องเป็ดแน่น
๕. เมื่อสานก้นข้องเป็ด เสร็จแล้ว ใช้ตอกสาน ๒ เส้น เสียบสานเริ่มตรงหักมุม เพื่อสานขัดกับตอกยืน สานไปจนกระทั่งตอกสานหมดเส้น แล้วเสียบเส้นใหม่ สานต่อไปจนกระทั่งเต็มทั้งตัวข้องเป็ด
๖. เมื่อสานตัวข้องเป็ดจนเต็มตัวแล้ว นำเชือกมารัด ตรงส่วนกลาง รัดเข้าหากัน จากวงกลม รัดให้เป็นวงรี เพื่อดัดให้เป็นรูปตัวเป็ด
๗. เมื่อใช้เชือกรัดตรงกลางตัวแล้ว จะมีส่วนหางกับส่วนหัว พับตอกยืนเส้นกลาง ๑ เส้น และเส้นที่เหลือสานเป็นลายขัด สานจนกระทั่งไปถึงคอ ส่วนก้น และส่วนหลัง ข้องเป็ด สานเป็นลายขัด โดยใช้ตอกยืนสาน
๘. ส่วนคอไปจนถึงปากข้องเป็ด ใช้ตอกสานสอดแล้วสานกับตอกยืน สานจนกระทั่งเสร็จ และส่วนปากเหลาไม้ไผ่เหลาแบน รัดให้เป็นวงกลม ที่ปากข้องเป็ด แล้วใช้เชือกสานรัดยึด ให้แน่นสนิท
๙. ตัดไม้ไผ่ จำนวน ๒ ท่อน ท่อนละ ๓๐ เซนติเมตร เพื่อสำหรับติดด้านข้าง ข้องเป็ด เชือกรัดติดกับข้องเป็ดให้แน่น ส่วนนี้เรียกว่า ทุ่นข้องเป็ด
พิกัดสถานที่ตั้ง ในเขตตำบลคำโตนด อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี (ไซ)
ในเขตตำบลโพธิ์งาม อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี (ข้องเป็ด)
สรุปผลการวิเคราะห์
ภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้ของช่างฝีมือ การสานไซปลอกห้า สองงา และข้องเป็ด
ตามแนวทางการศึกษาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน มีดังนี้คือ
1. ด้านปัจจัยสิ่งแวดล้อม
จากการศึกษาพบว่า ชุมชนของช่างฝีมือ มีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนดในการสร้างชิ้นงาน คือ ติดกับที่ลุ่ม มีแหล่งน้ำที่เหมาะกับการหาปลาและสัตว์น้ำ อีกทั้งยังเป็นดินแดนแห่งต้นไผ่ จึงเกิดภูมิปัญญาในการนำวัสดุท้องถิ่น มาสร้างเป็นงานจักสานเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต
2. ตัวงานหัตถกรรม
ช่างฝีมือพื้นบ้านได้รับการถ่ายทอดทักษะ และวิธีการจากบรรพบุรุษ โดยจุดประสงค์แรกเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ใช้สอยในการดำรงชีวิต เพิ่มเติมจากอาชีพทำไร่ทำนา เมื่อมีเวลาว่างจึงทำเพื่อแบ่งปัน จำหน่ายให้กับคนในชุมชน รูปแบบชิ้นงาน เกิดจากการถ่ายทอดสืบต่อกันมา ด้วยกระบวนการสร้างที่ประณีตงดงาม
- ด้านวัฒนธรรม
เมื่อว่างจากการทำไร่ทำนา ประกอบกับเป็นพื้นที่มีแหล่งน้ำ ชาวบ้านจึงออกหาปลาและสัตว์น้ำ ไซ ใช้เป็นที่ดักจับปลาและสัตว์น้ำ เมื่อได้แล้วจึงใส่ไว้ในข้อง บางครั้งเมื่อลงในน้ำลึกการสะพายข้องไม่สะดวก จึงใช้ภูมิปัญญาติดทุ่นเข้าที่ข้องให้ลอยน้ำได้ ตลอดจนมีจินตนาการให้ข้องใส่ปลาลากจูงไปในน้ำ เป็นคล้ายดังตัวเป็ดลอยน้ำได้ จึงดัดแปลงรูปแบบ ของข้องให้ดูมีความงดงามขึ้น
- ด้านการใช้สอย
ไซ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดักจับปลาและสัตว์น้ำ เกิดจากการการนำไม้ไผ่ที่เป็นวัสดุท้องถิ่นมาใช้ มีน้ำหนักเบา ขนย้ายง่าย ภูมิปัญญาที่เกิดขึ้น คือมีการเพิ่มงาหรือปากทางเข้าไซ เป็น ๒ ที่ เพื่อให้ปลาเข้าได้ง่าย ไม่เบียดเสียดจนหนีออกไปก่อน ข้องเป็ด ของลุงนาใช้ทุ่นจากกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งบางแห่งใช้ไม้โสนหรือวัสดุอื่นที่ลอยน้ำ แสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการเลือกใช้วัสดุ อย่างมีหลักการและเหตุผล เนื่องจากต้นไผ่จะมีลักษณะเป็นปล้องกลวงอยู่แล้ว การตัดไผ่ให้เป็นปล้องนำมาใช้เป็นทุ่น แสดงให้เห็นถึงความฉลาดและช่างสังเกตของช่างฝีมือพื้นบ้าน
- ด้านความงาม
งานจักสานทั้ง 2 ชิ้น เป็นงานที่ประณีต ละเอียด ไม่สร้างขึ้นเพียงเพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างเดียว ยังมีการดัดแปลงรูปทรงของชิ้นงานตามความคิดสร้างสรรค์ จนเกิดรูปร่างที่งดงามลงตัว น่าใช้สอย และมีความงามที่ลงตัวได้สัดส่วนที่งดงามและสนองการใช้ได้สมบูรณ์
ข้อมูลนี้ เป็นข้อมูลที่เสี่ยงต่อการสูญหาย เนื่องจากอาชีพจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือโบราณเริ่ม หมดไป และที่สำคัญ ช่างฝีมือจะมีการสืบทอดต่อไปได้อีกนานเท่าใด ในเมื่ออาชีพจักสานมีรายได้น้อย ทนต่อสภาวะเศรษฐกิจไม่ได้
0 comments