ภูมิปัญญาไทย.com

ภูมิปัญญาไทย

อังกะลุง

        การจัดทำเครื่องดนตรีไทยจากวัสดุท้องถิ่นที่มีชื่อว่า “อังกะลุง” ของนายอุบล  ทิพย์โอสถ  ชาวตำบลเนินหอม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี  ซึ่งเป็นงานช่างที่ได้รับการถ่ายทอดมาจาก นายผาง  ฤทธิ์มังกร  ซึ้งได้เสียชีวิตแล้วเพื่อเป็นการสืบสานเครื่องดนตรีไทยที่มีมาแต่ช้านาน  แต่กำลังจะลดเลือนหายไปถ้าขาดการอนุรักษ์
        อังกะลุง  เป็นเครื่องดนตรีไทยอีกชนิดหนึ่งที่ผลิตจากวัสดุที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย นั่นก็คือไม้ไผ่ และยังมีเครื่องดนตรีอีกหลายชนิดที่ผลิตจากไม้ไผ่  แต่อังกะลุงมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกับเครืองดนตรีอื่นๆคือมีการประสานเสียงในตัวถึง ๓ เสียง  มีเสียงนุ่มนวลไพเราะ อังกะลุงจัดอยู่ในประเภทเครื่องตี  เพราะการเกิดเสียงเกิดจากการกระทบของกระบอกไม้ไผ่ ๓ กระบอก ได้รับอิทธิพลมาจากชวา (อินโดนีเชีย)  เดิมเรียกว่า “อุงคะลุง” โดยหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร  ศิลปบรรเลง) ในสมัยรัชกาลที่ ๕   เดิมใช้ไม้ไผ่ ๒ กระบอก  และมีขนาดใหญ่ไม่สามารถเขย่าได้ใช้วิธีการไกว  ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาให้มีขนาดเล็กและมี ๓ กระบอก และใช้การเขย่าแทนซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่พัฒนาขึ้นอย่างเหมาะสมกับวิถีชีวิตและวัสดุที่หาได้ในประเทศไทยอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง  แต่การบรรเลงอังกะลุงนั้นต้องบรรเลงเป็นทีม ๑ ชุด อย่างน้อย ๗ คู่ จึงเป็นเรื่องยุ่งยากในการบรรเลง  ต่อมามีผู้คิดอังกะลุงลาวขึ้นซึ่งสามารถบรรเลงคนเดียวได้  แต่ก็ไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก จึงควรแก่การศึกษาเก็บข้อมูล  เพราะปัจจุบันมีเครื่องดนตรีต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลต่อหมู่วัยรุ่นอย่างมากตลอดจนวิถีชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไปจนอาจทำให้อังกะลุงซึ่งเป็นเครื่องดนตรีไทยหมดความนิยมจนเหลือแต่ตำนานในที่สุดก็เป็นได้



        ดนตรีเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ให้ความงามซึ่งสัมผัสด้วยการได้ยิน  ดนตรีเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เริ่มมีความเจริญทางศิลปวัฒนธรรม  แต่มนุษย์ก็ให้ความสำคัญกับดนตรีจะเห็นว่ามนุษญ์ทุกชาติทุกภาษาใช้ดนตรีในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ แต่ละชาติจึงคิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีที่แตกต่างกันออกไป
        อังกะลุง เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่คนไทยได้คิดึ้นโดยได้รับแบบอย่างมาจากเครื่องดนตรีชวาที่ชื่อว่า “อุงคะลุง”ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งรูปร่าง ลักษณะ เสียง วิธีการบรรเลงจนเป็นอังกะลุงอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
        นายอุบล  ทิพย์โอสถ  ชาวตำบลเนินหอม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นช่างพื้นบ้านผู้ผลิตอังกะลุง โดยได้รับการถ่ายทอดมาจากเพื่อนบ้านได้แก่นายผาง  ฤทธิ์มังกร และนางลำไย  เดชวิชิต  ซึ่งปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว โดยยึดเป็นอาชีพมานานกว่า ๒๕ ปี และถ่ายทอดให้กับลูกหลาน เพื่อนบ้าน และผู้สนใจอีกด้วย
        อังกะลุง ทำจากไม้ไผ่ เรียกว่าไผ่ลายที่แก่จัดและมีขนาดที่ต่างกันทั้งด้านความยาวและเส้นผ่าศูนย์กลาง เพื่อให้ได้เสียง ๓ ระดับที่ประสานกลมกลืน โดยตัดไม้ให้ด้านล่างห่างจากข้อ ๒ นิ้ว  เพื่อปาด ๒ ด้านให้เป็นขาไว้ ๒ ขา เพื่อสำหรับวางลงบนลาง ด้านบนปาดคว้านด้วยมีดเพื่อเป็นหูห้อยกับคานให้แกว่งไปมาได้  และในขณะที่ปาดต้องเทียบเสียงด้วยทุกกระบอก ซึ่งการปาดเนื้อไม้ออกก็จะทำให้เสียงเปลี่ยนไป  เมื่อได้ไม้ไผ่  ๓ กระบอก ๓ เสียง  สูง กลาง ต่ำ จึงนำมาแขวนบนรางไม้สัก ยาว ๑ ฟุต เซาะร่องไว้ ๓ ร่อง และตั้งเสารอไว้สำหรับติดคานห้อยกระบอก  นำกระบอกใหญ่วางที่ช่องแรก ติดคานขวางให้ขากระบอกลอยขึ้นเล็กน้อยแกว่งไปมาได้ แล้วตอกตะปูมัดให้แน่น ติดกระบอกกลางและเล็กเช่นเดียวกัน เป็นอันเสร็จก็จะได้อังกะลุง ๑ ตับ ติดตัวโน้ตที่อังกะลุงแต่ละตับ ติดหางนกยูงประดับธงชาติเพื่อความสวยงาม
        อังกะลุง เป็นเครื่องดนตรีที่ต้องบรรเลงเป็นทีมจึงจะเป็นเพลง ซึ่งไม่สามารถบรรเลงเดี่ยวได้ทำให้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก จึงมีผลกระทบมาถึงงานช่างผู้ผลิตอังกะลุงที่ต้องลดน้อยตามลงไปด้วย    ดังนั้นควรเก็บข้อมูลไว้ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการสูญหายได้
       


ดนตรี เป็นสื่อกลางแห่งความเข้าใจของคนทุกชาติที่ได้สัมผัส เสียงดนตรีทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่างได้ เป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจเบิกบานร่าเริง  มนุษย์เรามีสมองที่ฉลาดล้ำลึกสามารถประดิษฐ์เครื่องมือที่ทำให้เกิดเสียงต่างๆได้(เครื่องดนตรี)  อันได้แก่เสียง สูง กลาง เสียงต่ำ แล้วนำมาเรียบเรียงจนเกิดความไพเราะ มีอิทธิพลต่ออารมณ์ของมนุษย์อย่างมาก  จะเห็นได้ว่าทุกชาติ ทุกภาษา ทุกเผ่าพันธุ์ มีดนตรีด้วยกันทั้งนั้น แต่สิ่งที่แตกต่างกันไปก็คือเครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีเป็นแหล่งกำเนิดเสียงดนตรีที่มนุษย์คิดค้นขึ้น ดังนั้นในแต่ละชนชาติอาจมีความแตกต่างกันไปตามความคิด ตามสภาพแวดล้อมและวัสดุที่มีอยู่ในชาตินั้นๆ    เครื่องดนตรีมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าเสียงดนตรีเพราะเครื่องดนตรีมีบทบาทในชีวิตมาก่อน ในลักษณะสื่อสาร สัญญาณต่างๆ เช่น ตีเกราะ เคาะไม้ เป่าปาก เป็นต้น จึงพัฒนาเป็นเครื่องดนตรี
        ดนตรี นอกจากจะให้ความเพลิดเพลินทางอารมณ์แล้วยังแสดงให้เห็นถึงความเจริญทางด้านศิลปะ วัฒนธรรมประจำชาติ เครื่องดนตรีรนอกจากจะเป็นแหล่งกำเนิดเสีนงที่มีความไพเราะแล้วยังเป็นศิลปะของแต่ละชาติที่มีรูปร่าง สีสัน ลวดลายการผลิต ตลอดจนการบรรเลงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาตินั้นๆ
 อังกะลุง  เป็นเครื่องดนตรีไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากชวา (อินโดนีเซีย)    แต่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงทั้งรูปร่าง และวิธีการบรรเลงจนเป็นเอกลักษณ์ของไทยอย่างกลมกลืน
        ช่างผลิตเครื่องดนตรีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักดนตรี ซึ่งน้อยคนที่จะมีผู้กล่าวถึง ทำให้ศิลปะสาขานี้ลดจำนวนน้อยลงคงเหลือไว้แต่ที่สืบทอดทางสายเลือด  ลูกหลาน  หรือเพื่อนบ้านที่ยังรักในภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเช่นการทำอังกะลุงชาวตำบลเนินหอม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี


งานช่างฝีมือพื้นบ้านด้านเครื่องดนตรีไทย  เรื่อง   การผลิตและวิธีทำ “อังกะลุง”  จังหวัดปราจีนบุรี   เป็นงานช่างฝีมือพื้นบ้านด้านเครื่องดนตรีไทยที่ได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จนถึงปัจจุบัน  ในกลุ่มงานช่างส่วนใหญ่ก็คือ ลูกหลาน และชาวบ้านที่ว่างงาน  ผลงานส่วนใหญ่ทำอังกะลุงราว  ลูกค้าส่วนใหญ่ คือ โรงเรียนต่างๆ  ระยะการผลิตและวิธีทำ หนึ่งตับ ใช้เวลาผลิตประมาณ  ๔ ชั่วโมง
    ผู้ถ่ายทอด คือ นายผาง  ฤทธิ์มังกร  และ นายลำไย   เดชวิชิต  ปัจจุบันไม่มีชีวิตแล้ว  ผู้รับการถ่ายทอด คือ     นายอุบล  ทิพย์โอสถ  ได้รับการถ่ายทอดมาเป็นเวลา  ๒๕ ปี  และได้ถ่ายทอดต่อให้กับกลุ่มช่างผลิตอังกะลุง  ได้แก่  นายคณิต    ทิพย์โอสถ , นายดำรงค์   ใหม่สุวิง , นางบัวขาว   ทิพย์โอสถ , นางหนูพัก   แซ่อุย , นางสาวสุวรรณา  กวยเลิศ , นายวิรัตน์   สรฤทธิ์ , นางอำ  ใจประโคน และนางฉวี  วงษ์แก้ว

              ชื่อช่าง        นายอุบล  ทิพย์โอสถ
    เกิดวันที่        -  เดือน มีนาคม  พ.ศ.  ๒๔๙๔
      ที่อยู่ บ้านเลขที่      ๒๖  หมู่ที่  ๒๐   ตำบล  เนินหอม   อำเภอเมือง  จังหวัดปราจีนบุรี  ๒๕๒๓๐
             โทรศัพท์    ๐-๗๗๓๔-๒๑๒๑

 วัสดุที่ใช้ในการผลิต

๑    ไม้ไผ่ลาย
๒    รางไม้
๓    เสาอังกะลุง
๔    ไม้ขวาง
๕    เชือก , กาว
๖    สี , น้ำมันชักเงา

          ๑  ไม้ไผ่ลาย  เป็นไม้ที่มีความแกร่ง คือมีเนื้อไม้แข็งได้ที่  จึงจะมีเสียงไพเราะ  และจะต้องมีลายที่สวยงาม ตัดไม้ให้เป็นท่อนตามขนาดที่ต้องการ แล้วนำมาตากแห้งย่างไม้กับไฟอ่อน ๆ  นำมาอาบน้ำยากันมอด  บ่มไม้โดยใช้ผ้าคลุมจะช่วยป้องกันมอดได้   หลังจากนั้นจึงนำมาเหลาแต่งเสียงตามที่ต้องการ     ไม้ไผ่ลายเป็นไม้ไผ่ประเภทหนึ่ง ที่ปล่องไม้จะมีลายด่างเหมือนตกกระ เป็นโดยธรรมชาติทั่วทุกปล้อง จะเห็นลายเด่นชัดเมื่อมันแก่  เนื้อไม้ค่อนข้างบางเบาแต่แข็งแกร่ง ยิ่งแก่ก็ยิ่งแข็ง  แต่โบราณช่างทำดอกไม้ไฟจะนำมาประกอบการทำดอกไม้ไฟที่มีชื่อว่า  “ ช้างร้อง ”เพราะทำให้เกิดเสียง    ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะหาไม้ไผ่ชนิดนี้ได้ง่ายแถบชานเมืองกรุงเทพฯ ส่วนมากจะขึ้นตามป่าช้าตามวัด (ที่ฝังศพ หรือเก็บศพก่อนเผา) ต่อมาก็มีคนนำมาปลูกตามสวน    แต่ในปัจจุบันจะหาดูได้ในบางท้องที่ เช่น  จันทบุรี   นนทบุรี  ปราจีนบุรี เป็นต้น
๒ รางไม้     เดิมจะใช้ไม้สักทองขุดเป็นราง เพื่อใช้วางขาที่ฐานกระบอกลงในร่องที่ขุด ร่องที่เจาะจะมี ๓ ร่อง และรูกลมอีก ๕ รู สำหรับตั้งเสายึดตัวกระบอกอังกะลุง
๓ เสาอังกะลุง มักทำด้วยไม้ไผ่เหลาเกลาหรือกลึงจนกลมเรียบ  มีความยาวตามความสูงของกระบอกอังกะลุง   ขนาดโตกว่ารูที่รางเล็กน้อย
๔ ไม้ขวาง   ทำจากไม้ไผ่เหลาแบน ส่วนกลางปาดเนื้อไม้เป็นร่องลึกพอประมาณ   ใช้สำหรับสอดผ่านช่องกระบอกอังกะลุง เพื่อยึดตัวกระบอกกับเสา
๕   เชือก และกาว ใช้เป็นตัวยึดระหว่างไม้ขวาง กับเสา
๖   สี , น้ำมันชักเงา ใช้ตกแต่งตัวอังกะลุงให้มีความสวยงาม เป็นเงางาม

เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต

๑  เครื่องเซาะร่องไม้
๒  เครื่องขัดกระดาษทราย
๓  เครื่องตัดไม้
๔  มีดในรูปแบบต่างๆ
๕  เครื่องเทียบเสียง
๖  เครื่องไสไม้
๗  สว่านเจาะไม้
๘  ฆ้อน , คีม
๙  เครื่องพ่นสี

ขั้นตอน กระบวนการผลิตและวิธีทำ

    ขั้นที่ ๑  นำไม้ไผ่ลาย  ที่ตัดมาจากกอ  หรือสั่งซื้อ มาจากที่อื่นทั้งลำต้นนำไปตากแดดให้แห้ง  อาบน้ำยากันมอด
ขั้นที่  ๒  ไม้ไผ่ลาย  ที่ผ่านกระบวนการตากแดด อาบน้ำยา และบ่มกันมอดแล้ว นำมาตัดเป็นท่อน ๆ  ตามขนาดเสียงต่ำ , เสียงกลาง และเสียงสูง  อังกะลุงหนึ่งตับ  เท่ากับหนึ่งตัวโน๊ต  ต้องตัด  ๓ ขนาด คือ  กระบอกสูง กระบอกกลาง และกระบอกเล็ก  ความยาวขึ้นอยู่กับขนาดของอังกะลุงที่ทำ  ด้านล่างจากข้อไม้ ให้มีความยาวประมาณ ๒ นิ้วเศษ สำหรับทำขาอังกะลุง
ขั้นที่  ๓  นำไม้ไผ่ลาย  ที่ตัดเป็นท่อนๆ แล้ว  ตัดขา โดยใช้มีดตัดปาดลงทั้งสองด้าน เพื่อให้กระบอกไม้ไผ่มีขา  ๒ ขา  แล้วใช้มีดปาดตกแต่ง ให้ได้รูปทรงที่สวยงาม
ขั้นที่  ๔  นำกระบอกไม้ไผ่ ที่ตัดขาและตกแต่งแล้ว  มาปาดคว้านด้วยมีด ปาดเนื้อไม้ไผ่ออกขณะที่เริ่มปาดคว้าน  ให้เปิดเครื่องเทียบเสียงไปด้วย  ค่อยๆ ปาดเนื้อไม้ ออกทีละน้อย เพื่อให้ได้เสียงที่ต้องการ  เช่น เสียงโด  ทำตั้งแต่กระบอกใหญ่ คือ เสียงต่ำ กระบอกกลาง คือ เสียงกลาง และกระบอกเล็ก คือ เสียงสูง  ขณะปาดคว้านไม้ไผ่ลาย แต่ละกระบอก ต้องใช้เครื่องเทียบเทียง ทุกกระบอก จึงจะได้เสียงมาตรฐาน
ขั้นที่  ๕  รางไม้ใช้ไม้สัก  สั่งซื้อแบบสำเร็จขนาดยาว ๑ ฟุต  นำไม้รางที่เซาะร่อง  เจาะรูแล้ว วางขนาบ  ๒ ด้าน เป็นแบบในการวัด  แล้วนำไม้ราง  ๔ หรือ ๕ ท่อน วางตรงกลาง วางให้หัวท้ายเสมอกัน  ใช้ไม้บรรทัดวางทาบ ให้ตรงรูและตรงแนวที่เซาะร่อง แล้วใช้ดินสอขีดเส้นเป็นแนว
ยาว ให้ติดเหมือนกันทุกท่อน
ขั้นที่  ๖  นำไม้รางที่ขีดเส้นไว้แล้ว ไปวางบนเครื่องเซาะร่อง  ใช้แท่นเครื่องบีบให้แน่นชิดกัน เพื่อไม่ให้ไม้ขยับเขยื้อน เริ่มเปิดเครื่องกดหัวใบมีดลงที่ไม้เพื่อเซาะร่อง ที่วาดเป็นรูปสี่เหลี่ยมไว้แล้ว  ไม้ราง ๑ อัน จะเซาะร่อง ๓ ร่อง  นำมาแต่งให้ได้รูปสี่เหลี่ยม 
ขั้นที่  ๗  นำไม้รางที่เซาะร่องเรียบร้อยแล้ว  ไปที่เครื่องเจาะรู  เจาะรูตามเส้นที่ขีดไว้ ไม้ราง ๑ อันจะเจาะ  ๕ รู
ขั้นที่  ๘  นำไม้รางที่เจาะรู  เซาะร่องเสร็จแล้ว  ไปที่เครื่องขัดไม้  ขัดหัวและท้าย ให้เป็นรูปวงรีและขัดให้ได้สัดส่วนที่สวยงาม
ขั้นที่  ๙  นำไม้รางที่เซาะร่อง เจาะรูแล้วไปใส่เสา  ด้านหัวจะใส่เสา ๒ อัน ห่างกัน ๑ นิ้ว เพื่อสำหรับไว้จับเขย่าอังกะลุง  ใส่เสาทั้งหมด ๕  เสา  สูงไม่เท่ากัน
ขั้นที่  ๑๐  นำไม้รางที่ใส่เสาเรียบร้อยแล้ว  ไปทาสีหรือจุ่มลงในสีที่เตรียมไว้ แล้วนำไป    ตากแดดให้แห้ง
ขั้นที่  ๑๑  ใส่กระบอกไม้ไผ่ลายตัวแรก   กระบอกใหญ่ คือ เสียงต่ำ  วางกระบอกไม้ไผ่ลงในช่องรางไม้  ที่เซาะร่องไว้เป็นรูปสี่เหลี่ยม  แล้วใช้ไม้ขวางสอดที่รูกระบอกไม้ไผ่ที่เจาะไว้ระหว่างส่วนที่คว้าน  ตอกตะปูที่ไม้ขวางกับเสายึดให้แน่นสนิท  ติดกระบอกกลาง  และกระบอกเล็ก  ยึดด้วยไม้ขวางตอกตะปูให้แน่นทุกจุด
ขั้นที่ ๑๒   นำเชือกด้ายที่เหนียวมาผูกระหว่างไม้ขวางกับเสา  ตรงที่ตอกตะปู แล้วนำไปทาสีทับตรงเชือกด้ายที่ผูกอีกครั้ง และนำไปตากแดด เพื่อให้สีแห้งสนิท
ขั้นที่ ๑๓    เมื่อสีแห้งสนิท นำอังกะลุง แต่ละตับ มาวางบนราว และติดตัวอักษร คือ ตัวโน๊ต ของแต่ละตับ  เรียงลำดับตัวโน๊ตให้ถูกต้อง ติดธงหรือหางนกยูง เพื่อความสวยงาม เสร็จสมบูรณ์นำไปเขย่าบรรเลงได้


        ภูมิปัญญาของช่างไม้ไผ่ เป็นไม้ที่มีลักษณะเฉพาะก็คือเป็นปล้องกลวง ซึ่งมีประโยชน์ในการทำให้มีเสียงก้องกังวาน จะเห็นได้ว่ามีเครื่องดนตรีมากมายหลายชนิดที่ทำจากไม้ไผ่  อีกทั้งยังมีความอ่อนตัวเป็นสปริงไม่หักง่าย นำไปผลิตอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆได้มากมาย  อังกะลุงก็เช่นเดียวกันทำจากไม้ไผ่ชื่อว่า ไผ่ลาย ลักษณะเฉพาะคือเนื้อบางและแข็งแกร่ง เมื่อเคาะจึงเกิดเสียงดังก้องกังวาน ส่วนผิวเมื่อแก่จัดจะเป็นลาย ทำให้เพิ่มความงดงามตามธรรมชาติอย่างแท้จริง  อังกะลุงจัดอยู่ในประเภทเครื่องตี(เครื่องดนตรีไทยมี 4 ประเภท คือ ดีด สี ตี เป่า) แต่มีความแตกต่างคือ ใช้วิธีการเขย่าเพื่อให้กระบอกไปกระทบกับราวไม้แล้วเกิดเสียงขึ้น จัดให้เป็นภูมิปัญญาที่พัฒนาขึ้นอีกขั้นหนึ่งที่มีความซับซ้อนกว่าการตีบนตัวกระบอกอย่างเกราะ กรับ หรือโกร่ง และยังสามารถประสานเสียงได้ถึง 3 เสียง เพราะกระบอก 3 กระบอกที่มีขนาดต่างกัน  เสียงที่เกิดขึ้นจึงมี 3 ระดับ  ซึ่งเป็นพัฒนาของเครื่องดนตรีไทย
        วิธีการทางช่างใช้วิธีการง่าย ๆ ไม่สลับซับซ้อน  ผู้ที่มีความรู้ทางช่างเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำได้  โดยเฉพาะปัจจุบันมีเครื่องมือไฟฟ้าที่ช่วยทุ่นแรง  ทำงานง่าย  รวดเร็ว  แต่ยังคงมีส่วนที่ต้องใช้ความรู้ทางดนตรี, ความละเอียดอ่อน, ความประณีตและความชำนาญตรงนี้คือสิ่งที่ช่างทั่วไปต้องเรียนรู้อีกนานคือการปาดกระบอกที่ต้องเทียบเสียงไปตลอดจนกระทั่งได้ระดับเสียงที่ต้องการ  แต่ในปัจจุบันก็ยังมีเครื่องมือช่วยในการเทียบเสียงซึ่งก็ทำให้ช่างทำงานได้ง่ายขึ้นโอกาสผิดพลาดหรือเสียงไม่ตรง(เพี้ยน)มีน้อยมาก
        การป้องกันเนื้อไม้  ไม้ไผ่เป็นอาหารของมอดเนื่องจากเยื่อไม้มีทั้งแป้ง น้ำตาลและน้ำมันภูมิปัญญาชาวบ้านจะนำไปย่างไฟเพื่อให้สารที่เป็นอาหารสลายไปและตัวมอดที่มีอยู่ตาย แต่ก็ยังมีโอกาสหลงเหลืออยู่ได้  เมื่อมีการใช้สารเคมีกำจัดแมลงจึงนำมาอาบสารเคมีและบ่มคลุมด้วยผ้าจะทำให้มอดตายหมดและยังเคลือบน้ำมันชักเงาซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความมันวาวงดงามแล้วยังเป็นการรักษาเนื้อไม้และป้องกันแมลงได้อีกด้วย
        เครื่องมือทางช่างถึงแม้จะมีเครื่องมือไฟฟ้ามาช่วยหลายอย่าง แต่เครื่องมือที่ช่วยในการทำงานบางอย่างให้รวดเร็วเท่านั้น  เครื่องมือช่างพื้นฐานที่ขาดไม่ได้คือมีดที่มีลักษณะปลายต่าง ๆ ซึ่งใช้งานแตกต่างกันไปอีกทั้งการออกแบบด้ามเฉพาะ  เพื่อความถนัดในการจับ  และมีความยาวเพื่อใช้รักแร้หนีบให้เกิดความมั่นคงแม่นยำในการทำงานนี่คือภูมิปัญญาช่างที่คิดค้นขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมานานนับชั่วอายุคน

        วิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีไทยเปลี่ยนแปลงไปด้วยอิทธิพลของชาติตะวันตกผู้คนให้ความสนใจกับดนตรีไทยน้อยลงโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นจึงทำให้ผู้ที่สนใจจะประกอบอาชีพด้านดนตรีไทยมีน้อยลง  จะมีเฉพาะผู้ที่สนใจเป็นงานอดิเรกหรือเป็นเครื่องผ่อนคลายเพลิดเพลินเท่านั้นซึ่งก็ไม่เหมาะกับเครื่องดนตรีอังกะลุงเพราะต้องบรรเลงกันเป็นทีมไม่สามารถบรรเลงเดี่ยวได้  อาจมีการประยุกต์เป็นอังกะลุงราวแต่ก็ไม่ค่อยนิยมเท่าที่ควร  ดังนั้นผู้ผลิตอังกะลุงจึงหาตลาดได้ยากลงทุกที      ยังพอมีอยู่บ้างก็คือสถานศึกษาและชาวต่างชาติที่นิยมซื้อไปเป็นของที่ระลึก
        วัตถุดิบไม่เพียงพอ  ไม้ไผ่ลายไม่ใช่พืชเศรษฐกิจจึงมีคนปลูกน้อยทำให้ต้องสั่งจากที่อื่นบ้าง  ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น
        แรงงานหายากเนื่องจากจังหวัดปราจีนบุรีมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก  ผู้คนหันไปทำงานโรงงานเป็นส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีแรงงานที่จะช่วยผลิต  ลูกหลานที่เรียนสูงขึ้นก็ไปทำงานที่อื่นกันหมด
        ค่าตอบแทนที่ได้ต่ำไม่สามารถดึงดูดความสนใจให้คนหันมาทำอาชีพนี้
        หน่วยงานภาครัฐไม่ให้การสนับสนุนเท่าที่ควรในด้านการตลาดหรือสนับสนุนให้ประชากรหันมาสนใจกับเครื่องดนตรีไทย
        ด้วยปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้การผลิตอังกะลุงเป็นข้อมูลที่เสี่ยงต่อการสูญหายจึงจัดเก็บข้อมูลนี้ไว้เพื่อศึกษาค้นคว้าต่อไป

0 comments

Post a Comment