ภูมิปัญญาไทย.com

ภูมิปัญญาไทย


งานหัตถกรรมเครื่องจักสานไม้ไผ่ หมวกกุยเล้ย


    ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ เป็นหัตถกรรมดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเลือกสรรและนำเอาวัสดุที่มีอยู่ใกล้ตัวมาใช้ประโยชน์ สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่สอดคล้องกับความต้องการใช้สอย
    ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งมีวัตถุดิบตามธรรมชาติ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการจักสานได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกระบุง กระพ้อมใส่ข้าว หมวกใส่กันแดด แม้กระทั่งผู้ที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง ก็จะสานสุ่ม ลอบ ไซ ไว้ดักจับสัตว์น้ำ นับเป็นการดำรงชีวิตที่เหมาะสมกลมกลืนกับสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ อีกทั้งมีการถ่ายทอดความรู้ด้านการจักสาน ให้เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังตลอดมา
    ตำบลปากน้ำ เป็นชุมชนหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีการสืบทอดการผลิตผลิตภัณฑ์ทางหัตถกรรมที่มีชื่อเสียง คือ หมวกกุยเล้ย โดยนำเอาวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นมาใช้ประกอบการผลิต
สืบต่อกันมายาวนานกว่า ๖๐ ปี นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าสนใจ ด้วยสามารถสร้างรายได้จนเป็นอาชีพให้กับท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่น อันเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง
    ข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้านของชุมชนตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรานี้ แสดงถึงวัฒนธรรมที่ควรศึกษาและอนุรักษ์ไว้ และชี้ให้เห็นถึงปัญหาอุปสรรคในการดำรงอยู่ของภูมิปัญญาในปัจจุบันว่า เสี่ยงต่อการสูญหายหรือสามารถคงอยู่ได้ ด้วยเหตุปัจจัยองค์ประกอบใด เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ ส่งเสริม หรือ ศึกษาวิจัยในโอกาสต่อไป

    อาชีพจักสานหมวกกุยเล้ย เป็นงานหัตถกรรมท้องถิ่นของชุมชนตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา มายาวนาน โดยเริ่มจากชาวจีนอพยพที่เข้ามาอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่แถวเกาะลัดในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นผู้นำความรู้และถ่ายทอดกระบวนการผลิตให้กับคนท้องถิ่นอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งใช้วิธีการบอกเล่า ให้สังเกตและฝึกปฏิบัติ โดยมีสถาบันครอบครัวเป็นหลักในการสืบทอด
    ต่อมามีหน่วยงานราชการได้แก่ โรงเรียนและพัฒนาชมชนเข้ามาสนับสนุนชาวบ้านตามนโยบายรัฐบาล ที่เน้นและต้องการฟื้นฟูเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยส่งเสริมการจักสานหมวกกุยเล้ยเป็นอาชีพเสริมของชุมชน หลังว่างจากการทำนา ทำสวน เลี้ยงกุ้ง ทำให้หมวกกุยเล้ยได้พัฒนามาเป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ประเภทเครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง ระดับ ๔ ดาวของจังหวัดฉะเชิงเทรา
    ปัจจุบันงานหัตถกรรมจักสานหมวกกุยเล้ยของชุมชนปากน้ำ มีแนวโน้มที่เสี่ยงต่อการสูญหายไปในอนาคต เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคในการผลิตที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากที่อื่น ปัญหาด้านการตลาดที่รองรับผลิตภัณฑ์มีน้อย ปัญหาแรงงานมีจำนวนลดลง เพราะคนในชุมชนหันไปประกอบอาชีพทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีค่าตอบแทนดีกว่า และปัญหาของผลิตภัณฑ์ที่ขาดการประยุกต์และออกแบบให้ตรงกับความต้องการทางการตลาด ปัจจัยของปัญหาเหล่านี้ ทำให้มองเห็นถึงแนวโน้มที่เสี่ยงต่อการสูญหายได้ หากไม่ได้รับการแก้ไข

 
    พื้นฐานการดำเนินชีวิตและการถ่ายทอดหัตถกรรมพื้นบ้านในการผลิตหมวกกุยเล้ยของตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรานี้ อาศัยรากฐานความรู้ของชาวบ้าน และความรู้ที่มีการสืบทอดต่อๆ กันมา เป็นระยะเวลานานจนก่อเกิดเป็นองค์ความรู้และนำองค์ความรู้นั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิตที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และเกิดเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือนิยมเรียกกันในปัจจุบันว่า
ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งได้รับความนิยมและเป็นที่น่าสนใจ
    สภาพเศรษฐกิจของชุมชนตำบลปากน้ำ ส่วนใหญ่ทำนา ทำสวน อาชีพรองลงมาคือการสานหมวกกุยเล้ย โดยมีจุดประสงค์พื้นฐาน เพื่อการใช้สอยในชีวิตประจำวันคือ ใส่คลุมศีรษะขณะทำนาหรือทำสวน ต่อมาเมื่อเป็นที่นิยมจึงผลิตจำหน่ายเป็นอาชีพ
    โดยปกติการผลิตหมวกกุยเล้ยในช่วงแรกก็อาศัยวัตถุดิบที่หาได้ในบริเวณชุมชน แต่ปัจจุบันไม้ไผ่ที่จะนำมาผลิตมีปริมาณลดลงและหาได้ยาก จึงต้องอาศัยนำเข้าจากแหล่งวัตถุดิบอื่น คือ ซื้อจากอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ส่วนใบไผ่ก็ซื้อจากจังหวัดปราจีนบุรี นอกนั้นยังพอหาได้ในท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นต้นคล้า กระดาษถุงปุ๋ย หรือกระดาษถุงอาหารกุ้ง ปัญหาด้านวัตถุดิบที่ต้องซื้อทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ทั้งค่าเดินทาง ค่าไม้ไผ่ และค่าใบไผ่ แต่ราคาหมวกที่ขายหรือส่งไม่ได้ปรับขึ้นตามราคาต้นทุนทำให้หลายครอบครัวเลิกสานหมวกขาย และหันไปประกอบอาชีพเสริมรายได้ทางอื่น เช่น เย็บกระเป๋าส่งโรงงาน ซึ่งมีรายได้ดีกว่า
    จึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งหาทางอนุรักษ์ พัฒนาหรือส่งเสริมให้หัตถกรรมเครื่องจักสานหมวกกุยเล้ย ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนตำบลปากน้ำนี้ ให้คงอยู่จากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะหัตถกรรมหมวกกุยเล้ยนี้เป็นภูมิปัญญาที่ได้จากการถ่ายทอด การสังเกตเรียนรู้ การศึกษาธรรมชาติโดยนำเอาวัตถุดิบพื้นบ้านมาทำเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจนทำให้เกิดเป็นอาชีพ เกิดการพึ่งพาตนเอง และมีความเชี่ยวชาญในการผลิตจนเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนของตำบลและของจังหวัดซึ่งคุณค่าในภูมิปัญญานี้สะท้อนและบ่งบอกถึงประโยชน์ด้านการใช้สอย ประวัติความเป็นมา ศิลปะและวัฒนธรรม ทำให้เกิดความรักความภาคภูมิใจในท้องถิ่นและไม่ละทิ้งท้องถิ่นของตนให้เห็นได้เสมอมา


    เกษตรกรในตำบลปากน้ำส่วนใหญ่ มักจะมีอุปกรณ์กันแดดกันฝนที่เรียกว่า “หมวกกุยเล้ย” ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากหมวกของคนไทย ที่เรียกว่า “งอบ” ที่ใช้กันโดยทั่วไป
    กุยเล้ย เป็นคำที่เรียกหมวกแบบจีน บางทีก็อาจเรียกว่า “โก่ยโล้ย กุ่ยเละ หรือ หมวกเจ๊ก” ซึ่งชื่อเรียกทั้งหมดนี้หมายถึงหมวกชนิดเดียวกันที่มีลักษณะทรงกรวยหัวแหลมมีปีกกว้างกลม นิยมใส่เพื่อใช้ป้องกันแดดกันฝน ซึ่งในอดีตคนจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากกินในพื้นที่แถบนี้ อาชีพหลักคือ การทำสวนทำไร่ ได้นำเอาวัฒนธรรมการใช้หมวกกุยเล้ยนี้เข้ามาด้วย และได้ถ่ายทอดวิธีการผลิตแก่คนในท้องถิ่น จนมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย คุ้นเคย และยอมรับกันว่า หมวกเจ๊กนี้คือ เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนจีนต้นตำรับ และคนไทยได้รับสืบทอดมาเป็นมรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเวลายาวนานกว่า ๖๐ ปี จนหมวกกุยเล้ยของตำบลนี้เคยได้รับรางวัลชนะเลิศผลิตภัณฑ์หัตกรรมพื้นบ้าน ของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ มาแล้ว
    หมวกกุยเล้ย จะประกอบด้วยวัสดุต่างๆ โดยมีไม้ไผ่เป็นวัสดุหลัก นอกนั้นจะประกอบด้วยใบไผ่ กระดาษถุงสีน้ำตาล ต้นคล้าหรือหวาย ขนาดของหมวกมี ๓ ขนาด คือ ใหญ่ กลาง เล็ก ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๗.๕, ๑๖.๕, และ ๑๔.๕ นิ้ว ขนาดที่นิยมทั่วไปคือขนาดกลาง ส่วนหมวกที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษจะมีขนาดจิ๋ว ส่วนใหญ่จะใช้เป็นของที่ระลึก ซึ่งจะสานก็ต่อเมื่อมีผู้สนใจมาสั่งทำเป็นพิเศษ
    วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการสานหมวกกุยเล้ยของชาวปากน้ำ อำเภอบางคล้านี้ จะใช้ไม้ไผ่นวล ใบไผ่ตง หวายหรือต้นคล้า และกระดาษถุงปูน ถุงปุ๋ย หรือถุงใส่อาหารกุ้ง ส่วนอุปกรณ์ก็ได้แก่ มีดผ่าไม้ กรรไกร และขันใส่น้ำ เป็นต้น และมีขั้นตอนการผลิตโดยทั่วไปดังนี้
๑.    นำไม้ไผ่นวลที่มีลำปล้องยาว มาจักเป็นเส้นตอกให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ
๒.    นำเส้นตอกที่จักแล้วมาสานเป็นโครงฝาหมวกด้านนอกและโครงฝาหมวกด้านใน ซึ่งจะ
สานโครงฝาหมวกด้านนอกก่อนด้วยการขึ้นโครงบนหุ่น และใช้ตอกเส้นเล็กมาใช้ในการสานเพื่อให้ดูแล้วรู้สึกว่างานมีความละเอียดประณีต โดยเริ่มจากส่วนแหลมปลายยอดของหมวกก่อน แล้วสานต่อลงมาเป็นตัวหมวก จากนั้นสานแผ่กลมออกไปเป็นปีกหมวก
๓.    สานโครงฝาใน ด้วยวิธีการและขั้นตอนเช่นเดียวกับการสานโครงฝาด้านนอก แต่จะใช้เส้น
ตอกที่ใหญ่กว่า สานตาห่างกว่า ดูหยาบกว่า แต่แข็งแรงต่อการใช้งาน
๔.    ตัดกระดาษถุงสีน้ำตาลให้เป็นเส้นแถบกว้างๆ แช่น้ำพร้อมใบไผ่ตง
๕.    นำฝาโครงหมวกด้านนอก วางหงายลงในกระถาง แล้วนำเส้นแถบกระดาษถุงที่แช่น้ำจน
อ่อนตัว ปิดกรุลงบนโครงฝาหมวกจนรอบไร้ช่องรูโหว่ จากนั้นก็นำเอาใบไผ่ตงปิดทับลงบนกระดาษอีกชั้นหนึ่ง
๖.    นำฝาโครงหมวกด้านใน วางหงายประกบซ้อนทับบนชั้นใบไผ่ แล้วร้อยตอกยึดโครงฝา
หมวกทั้งสองด้านเข้าด้วยกัน บริเวณยอดแหลมปลายหมวก
๗.    นำเอาหมวกที่ได้มาเข้าขอบ โดยใช้เส้นตอกมาถักให้รอบ
๘.    เก็บยอดหมวก โดยนำใบไผ่ ๒ ใบ วางไขว้แล้วพับงอเป็นรูปกรวยสวมครอบส่วนแหลม
ยอดหมวก จากนั้นใช้เส้นตอกผิวต้นคล้าหรือหวายมาถักคลุมอีกชั้นหนึ่ง เป็นการเก็บรายละเอียดส่วนยอดหมวก
๙.    ทาน้ำมันยางทั้งด้านนอกและด้านในให้ทั่ว เพื่อเคลือบผิววัสดุให้มีความคงทนและสวยงาม
๑๐.    ผึ่งให้แห้ง จากนั้นเก็บเพื่อนำไปจำหน่ายหรือใช้งานในโอกาสต่อไป

    ผู้ประกอบการสานหมวกกุยเล้ยในชุมชนปากน้ำ ซึ่งอาศัยอยู่ที่หมู่ ๖ บ้านหินตั้ง และหมู่ที่ ๘ บ้านไร่ ของตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรานั้นมี นางสาธุ วงศ์พระราม, นางรักไทย สุขะ, นางสลับ นพพะ, นางประดับ เกลี้ยงเกลา, นางกานดา พรมมี, นายบุญคุ้ม นพพะ, นางซียเฮียง แซ่ตั้น, นางวินิจ บังเจริญ, นางโกสุม ชนะรอด และนางมณฑา กล้องเจริญ เป็นต้น


    หมวกกุยเล้ย ผลิตภัณฑ์จักสานพื้นบ้านชุมชนตำบลปากน้ำ มีจุดกำเนิดของวัฒนธรรมจากประเทศจีน แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยตามการอพยพของพวกคนจีน และนำเอาองค์ความรู้ด้านหัตถกรรมการสานหมวกนี้เข้ามาด้วย เพื่อทำขึ้นใช้สอยกันในครอบครัว และด้วยความสนใจของคนไทยในท้องถิ่นของชุมชน อีกทั้งความเอื้ออารีย์ที่มีต่อกัน ความรู้นี้จึงได้ถูกถ่ายทอดและสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นความกลมกลืนกันของวัฒนธรรมต่างชนชาติ แม้รูปแบบของหมวกยังจะยังคงดำรงเอกลักษณ์ของความเป็นจีน ที่เห็นได้จากคำเรียกชื่อหมวกกุยเล้ย หรือจากการยอมรับว่าเป็นหมวกเจ๊ก แต่กลายเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นคนไทยในตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ช่วยสืบสานอนุรักษ์อารยธรรมทางภูมิปัญญานี้ไว้ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
หมวกกุยเล้ย จึงอาจนับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพที่ผู้เข้ามาอาศัยมอบเป็นของขวัญตอบแทนเจ้าของบ้านเจ้าของแผ่นดิน ด้วยการถ่ายทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนี้ให้สืบทอดและเก็บรักษาไว้จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นรายได้และเป็นอาชีพของชุมชน แต่น่าเสียดายที่การสร้างค่านิยมให้เกิดแก่ชุมชนโดยส่งเสริมภูมิปัญญานี้ แปรค่ามาเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ของตำบลจนเป็นอาชีพที่ทำรายได้นั้น ทำให้สารัตถะของหมวกกุยเล้ยถูกมองข้ามเห็นเป็นเพียงสินค้าหรือวัตถุทำรายได้ สร้างอาชีพเท่านั้น
ซึ่งจากการผลิตขึ้นเพื่อใช้สอยกันในครัวเรือนและซื้อขายแลกเปลี่ยนเมื่อเหลือใช้ กลับกลายเป็นอาชีพ เป็นธุรกิจ ที่มีการลงทุนลงแรงเพื่อหวังผลกำไร ทำให้วัตถุดิบในท้องถิ่นถูกใช้ไปอย่างเกินความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง และหมดลงโดยไม่สามารถปลูกชดเชยได้ทันต่อเวลา จนกระทั่งต้องนำเข้าจากต่างถิ่นด้วยการซื้อหรือลงทุน เมื่อตลาดลดลงต้นทุนสูงขึ้นรายได้ไม่คุ้มค่า ทำให้ภูมิปัญญาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนี้ถูกละเลย ไปทำงานโรงงานที่เป็นอาชีพที่มีรายได้มากกว่า แม้โรงงานอาจปิดตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนจนคนในชุมชนอาจหวนกลับมาสานหมวกกุยเล้ยเป็นอาชีพที่รองรับสภาวะว่างงานของคนในชุมชน
แต่ค่านิยมแห่งความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของชุมชนจะหลงเหลือในจิตใจผู้สืบสานงานหมวกนี้สักเท่าใด และการปลูกฝังให้เห็นถึงคุณค่าแห่งอารยธรรมทางปัญญาของบรรพชนจะมีบ้างไหม หรือทำได้อย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับคนท้องถิ่นพวกแรก ที่ปรารถนาอยากได้ความรู้จากชาวจีนอพยพแถวเกาะลัด
การถูกยกย่องเป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ของตำบล มีจำนวนดาวหรือรางวัลเป็นหลักประกัน คงไม่สามารถเปลี่ยนค่านิยมที่ฝังแน่นว่าผลิตภัณฑ์นี้คือ อาชีพคือรายได้ ให้กลับกลายมาเป็นรักและหวงแหนเพราะนี่คือ ภูมิปัญญาที่มีประวัติความเป็นมา นี่คือเอกลักษณ์ของท้องถิ่น นี้คือสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพของเจ้าของภูมิปัญญาและผู้สืบทอดไปได้ ถ้าตราบใดที่เรายังยึดติดกับวัตถุส่งเสริมการสร้างวัตถุ จนลืมความสำคัญของจิตใจและส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นในใจผู้สานหมวกกุยเล้ย ตราบนั้นเงินรายได้ก็จะมีอิทธิพลคุณค่ามากกว่าการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของท้องถิ่น

0 comments

Post a Comment