การต่อเรือประมง
“ช่างต่อเรือประมง” เป็นอาชีพของชาวชลบุรีและดำเนินกิจการมาหลายช่วงเวลา เนื่องจากชลบุรีเป็นเมืองท่าเป็นจุดพักสินค้า (Break in Transportation) มาแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยามีส่วนให้ชุมชนชายทะเลแถบจังหวัดชลบุรีมีการต่อเรือมาโดยลำดับ จากการสอบถามผู้มีอาชีพต่อเรือปัจจุบันทราบว่าที่นี่เป็นแหล่งต่อเรือประมงที่มีชื่อเสียงมากในด้านคุณภาพเรือ เรือใบทุกชนิดที่ต่อในอำเภอเมืองชลบุรีเป็นที่เลื่องลือว่าช่างต่อเรือชลบุรีมีความชำนาญ มีเทคนิคฝีมือการต่อเรือสูงมากเป็นช่างที่ทำกันเป็นอาชีพติดต่อกันมาแต่ครั้งสมัยโบราณ จากการศึกษาซากเรือที่อับปางตามแหล่งโบราณคดีใต้น้ำบริเวณอ่าวจังหวัดชลบุรีได้พบหลักฐานถึงการต่อเรือใบบริเวณนี้ และการต่อเรือส่วนมากเป็นเรือประมงและเรือใบที่แสดงถึงทักษะในการทำงานของช่างที่สูงมาก
กรณีช่างต่อเรือประมงที่จังหวัดชลบุรี มีนายประวัติ มุตตามระ เป็นช่างผู้ดำเนินกิจการต่อเรือ และมีช่างลูกมือผู้ช่วยอีกหลายคน ซึ่งจะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบการต่อเรือไปตามความถนัดของช่างแต่ละคนเพื่อให้การต่อเรือสามารถผลิตได้ปริมาณเพียงพอกับความต้องการของผู้ว่า-จ้างอนึ่ง ด้วยภูมิลักษณ์ของชุมชนจังหวัดชลบุรีตอนล่างมีพื้นที่ติดอยู่กับชายทะเลเป็นแนวยาว อาชีพการต่อเรือจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งมาแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เพื่อต่อเรือสำหรับการใช้สอยและสัญจรไปมาของชุมชนที่อยู่ชายน้ำพร้อมไปกับต่อเรือประมงเพื่อออกจับปลา หรือสัตว์น้ำต่าง ๆ ดังนั้นช่างต่อเรือจึงเป็นกลุ่มช่างที่มีประโยชน์และความสำคัญต่อวิถีชีวิตผู้คนแถบชายฝั่งทะเลเป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบันช่างด้านการต่อเรือประมงนับวันจะสูญหายไปเนื่องจากภาวการณ์ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นด้านวัสดุ (ไม้) ด้านการตลาด (ความต้องการ) ล้วนหายากและราคาแพง ระยะเวลาที่ใช้ในการต่อเรือใช้เวลานาน หาช่างลูกมือที่มีประสบการณ์ยากและค่าตัวช่างก็มีค่าจ้างที่สูง เพราะต้องใช้ทักษะฝีมือมาก กว่าจะทำได้ในแต่ละขั้นตอนของการต่อเรือ ดังนั้นการจัดเก็บข้อมูลครั้งนี้จึงช่วยให้การรวบรวมฐานข้อมูลองค์ความรู้ช่างต่อเรือประมง ให้เป็นระบบสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ของผู้สนใจให้สามารถนำไปใช้งานให้เห็นผลในด้านต่าง ๆ อย่างถูกต้อง
การต่อเรือประมง เป็นวิถีชีวิตสำคัญสำหรับช่างจังหวัดชลบุรีและใกล้เคียง โดยในส่วนของชลบุรีมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ ๑๕๖ กิโลเมตร และมีอู่ต่อเรือได้เกิดขึ้นในบริเวณอำเภอเมืองชลบุรี อำเภอศรีราชา อำเภอสัตหีบ เป็นต้น เรือประมงส่วนใหญ่เป็นเรือไม้ การต่อเรือ ช่างที่ต่อต้องอาศัยประสบการณ์ในการต่อเรือเป็นหลักในการออกแบบเรือ และความต้องการของลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของ เรือส่วนใหญ่ของการต่อจะไม่ใช้พิมพ์เขียวในการออกแบบเรือ เรือประมงในระยะแรกมักจะแคบเรียวโดยมีอัตราส่วนความยาวต่อความกว้างประมาณ ๔:๑ และมีอัตราส่วนความกว้างต่อความลึกประมาณ ๒๕ : ๑ การตั้งเครื่องยนต์ที่มีกำลังแรงม้าต่ำจึงทำให้ระวางขับน้ำ (ตันกรอสส์) ต่ำไปด้วย การต่อเรือประมงมีรูปร่างดังกล่าว เนื่องจากทรัพยากรสัตว์น้ำในระยะแรกมีมากไม่จำเป็นต้องแล่นเรือออกไปไกล ต่อมาทรัพยากรสัตว์น้ำลดน้อยลงไปมากทำให้ต้องออกเรือไปไกล และบรรทุกสัมภาระต่าง ๆ เช่น น้ำมัน น้ำแข็ง และเมื่อจับสัตว์น้ำได้มากพอจึงจะกลับเข้าท่า ปัจจัยดังกล่าวจึงมีผลให้ชาวประมงนิยมต่อเรือที่มีความกว้างและความลึกมากขึ้น คือ มีอัตราส่วนความยาวต่อความกว้าง ๓:๒ ถึง ๓:๕:๑ และความกว้างความลึกประมาณ ๑๘:๒.๒:๑ และติดตั้งเครื่องยนต์ที่มีแรงม้าสูง จึงทำให้ระวางขับน้ำสูงขึ้นด้วยทำให้สามารถออกไปทำการประมงได้ไกลขึ้น และบรรทุกสัมภาระที่จำเป็นได้มากขึ้นด้วย
คำว่าเรือไทยถึงแม้มีจารึกภาษาขอมพบในเมืองนาตรัง ประเทศเวียดนามประมาณทศวรรษที่ ๑๒ เป็นหลักฐานกล่าวถึงชนชาติสยามซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและอาจรู้จักการใช้เรือเป็นชาติแรกในอาณาบริเวณนี้ แต่หลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเดินเรือของคนไทยปรากฏอยู่บนศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. ๑๘๒๒–๑๘๔๓) แห่งกรุงสุโขทัย หลักที่ ๔ ด้านที่ ๔ กล่าวว่า การเดินทางด้วยเรือและถนนแสดงว่ามีการสร้างเรือมาแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ส่วนจังหวัดชลบุรีมีประวัติความเป็นมาด้านการต่อเรือประมงในเขตอำเภอเมืองชลบุรีมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ลงมาหรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย) แต่ที่มีการต่อเป็นอาชีพเริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยมีชื่อเรียกว่า “เรือประมงติดใบ หรือ เรือใบ” ซึ่งจากการสอบถามผู้มีอาชีพต่อเรือจะเห็นได้ว่าจังหวัดชลบุรีเป็นแหล่งต่อเรือประมงที่มีชื่อเสียงมากในด้านคุณภาพของเรือ เรือใบทุกชนิดที่ต่อในอำเภอเมืองชลบุรีเป็นที่เลื่องลือว่าวิ่งได้เร็วกว่าเรือใบที่ต่อจากอู่เรือในจังหวัดชายทะเลอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะว่าช่างต่อเรือชลบุรีมีความชำนาญมีเทคนิคฝีมือการต่อสูงมาก เป็นช่างที่ทำกันเป็นอาชีพติดต่อกันมาแต่ครั้งโบราณ ประวัติการต่อเรือส่วนมากต่อเรือประมงและเป็นเรือใช้ใบซึ่งเรียกว่าเรือใบ และเพิ่งจะมาเปลี่ยนเป็นเรือเครื่องยนต์ที่เรียกว่าเรือยนต์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐
จังหวัดชลบุรีมีอาชีพการต่อเรือประมงและเป็นอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้ให้กับจังหวัดในปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมาก ขนาดของเรือมีขนาดตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดเรือตั้งแต่ ๕–๑๐ เมตร จนถึงขนาดกลาง ขนาดเรือตั้งแต่ ๘–๑๘ เมตร และมีระยะเวลาต่อเรือ ๑-๓ เดือน และ ๑-๔ เดือน ตามลำดับ (ตารางที่ ๑)
ตารางที่ ๑ การต่อเรือจังหวัดชลบุรี
ขนาด เล็ก กลาง ใหญ่
ความยาว ๗.๕๐ เมตร ๑๑.๕๐ เมตร ๑๘–๒๐ เมตร
ระยะเวลาต่อเรือ ๑ เดือน / ลำ ๓ เดือน / ลำ ๖ เดือน / ลำ
คนงาน ๑๐ คน ๑๐ คน ๑๕ คน
ค่าใช้จ่าย ๗๕,๐๐๐ บาท ๑๕๑,๐๐๐ บาท ๑,๘๑๐,๐๐๐ บาท
ซึ่งการต่อเรือประมงดังกล่าว ต้องใช้ช่างที่มีฝีมือและมีประสบการณ์ในการนำภูมิปัญญาด้านการต่อเรือให้ได้เรือที่มีคุณภาพตามที่ลูกค้าต้องการเหมาะสมกับการใช้งาน และช่างที่นับว่ามีฝีมือในการต่อเรือประมงได้ถูกใจลูกค้าของจังหวัดชลบุรีคือ นายประวัติ มุตตามะระ ซึ่งปัจจุบันมีอายุมาก สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงและคิดอยากจะเลิกอาชีพต่อเรือเนื่องจากหาช่างผู้สืบทอดที่มีฝีมือและความชำนาญยาก
วัตถุดิบที่ใช้ในการต่อเรือประมง ประกอบด้วยไม้แสม ไม้ประดู่ ไม้ตะเคียน ด้ายดิบ ชันยาเรือ สีสำหรับทาเรือ แผ่นโฟม และมีเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ด้วยมือ และเครื่องมือไฟฟ้าเป็นต้น โดยมีขั้นตอนการต่อเรือได้แก่ วางกระดูกงู ตั้งโขนเรือหรือทวนหัว ตั้งทวนท้ายหรือหลักทรัพย์ วางกงเป็นโครงเรือ วางตะเข้เรือ ขึ้นราใบที่อยู่ด้านในของเรือ ขึ้นกระดาน ใส่กงดาดฟ้าเรือวางคาน ราโทด้านข้าง ทำห้องเย็นอยู่ด้วย หน้าของหัวเรือใช้เก็บปลา ทำเก๋งเรือ วางเครื่องยนต์ไว้ชั้นล่างของตัวเรือ ตอกหมันด้วยการนำด้ายดิบผสมชันยาเรือ และทาสีเรือ
วิเคราะห์ข้อมูลที่จัดเก็บเรื่อง “ช่างต่อเรือประมง” ในจังหวัดชลบุรีและใกล้เคียง มีประเด็นที่น่าสนใจมากก็คือ หาช่างผู้สืบทอดที่มีฝีมือและความชำนาญได้ยากประกอบกับการต่อเรือเวลาทำงานมักจะแบ่งเนื้องานไปตามความสามารถของลูกมือช่างแต่ละด้าน จึงทำให้องค์ความรู้การต่อเรือที่มีผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญโดยองค์รวมจะลดน้อยลงไป อีกทั้งปริมาณสัตว์น้ำในอ่าวไทย (หน้าจังหวัดชลบุรี) มีปริมาณลดลงเช่นกัน มีผลให้ชาวประมงหันไปประกอบอาชีพอื่น ไม่มีการว่าจ้างให้ช่างต่อเรือเพิ่มเติมขึ้น การทำงานด้านต่อเรือนับวันก็ขาดผู้คนสนใจลงไปตามลำดับ ดังนั้นงานช่างการต่อเรือประมงจึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการสูญหายเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีการศึกษาวิจัยในเชิงลึกถึงเรื่องการต่อเรืออย่างจริงจัง ในอนาคตอันใกล้องค์ความรู้ด้านนี้สูญหายแน่
“ช่างต่อเรือประมง” เป็นอาชีพถือกำเนิดขึ้นในบริเวณจังหวัดที่มีพี้นที่ติดต่อกับชายทะเล และมีประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมีการทำประมง จึงทำให้การต่อเรือประมงได้เติบโตขึ้นตามลำดับ ส่วนใหญ่งานช่างด้านนี้จะดำเนินกิจการโดยคนไทย และใช้ไม้ในการต่อเรือ ซึ่งกว่าจะทำได้สำเร็จในแต่ละขั้นตอนต้องใช้ช่างและลูกมือที่มีประสบการณ์มากเป็นทีมงาน มีการแบ่งภาระหน้าที่ไปตามความถนัดความสามารถของช่างแต่ละคน สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือการต่อเรือประมงส่วนใหญ่จะไม่ใช้พิมพ์เขียว (แบบเขียว) ในการออกแบบเรือการต่อแต่ละลำช่างจะใช้ประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาเป็นเครื่องกำหนดกะคำนวณแบบสัดส่วนให้ได้ขนาดรูปทรงเรือที่ต้องการ
การต่อเรือประมงที่จังหวัดชลบุรีของนายประวัติ มุตตามะระ เป็นการต่อเรือประมงขนาดเล็กสำหรับใช้ในการออกจับสัตว์น้ำในระยะใกล้ ๆ ซึ่งเรือขนาดดังกล่าวต้องใช้เวลาในการต่อประมาณ ๒ เดือน กับทั้งการต่อเรือใบแต่ละครั้งต้องต่อพร้อมกันไปอย่างน้อย ๒ ลำ เนื่องจากลักษณะความชำนาญของช่างทำเรือมีความสามารถเฉพาะทางต่างกัน (ขึ้นรูปโครงเรือ ส่วนประกอบภายใน ฯลฯ) ดังนั้นเวลาทำจริงพอคนถนัดขึ้นโครงลำแรกแล้วเสร็จจะต่อด้วยการขึ้นโครงลำต่อไป คนที่ถนัดทำส่วนประกอบอื่น ๆ จะต่องานลำแรกและลำต่อไปได้ โดยไม่ต้องปล่อยเวลาให้ผ่านไป ส่วนของค่าแรงส่วนมากจะจ่ายให้กับช่างที่มีความถนัดและความชำนาญในราคาที่ค่อนข้างสูง ส่วนช่างอื่น ๆ ราคาก็จะลดหลั่นลงไปตามงานที่ทำได้
การต่อเรือแบบมีกระดูกงูตามปกติจะใช้ไม้ท่อนหนึ่งยาวและหนักวางตามแนวกลางเป็นกระดูกงู ติดทวนหัวและทวนท้ายเข้ากับกระดูกงูตรงปลายสุด ทั้งหัวและท้ายพร้อมกับติดกงตั้งเป็นระยะ ๆ บนกระดูกงูเพื่อให้เป็นรูปตัวเรือขึ้นก่อน และจึงปิดแผ่นไม้ตัวเรือที่ขอบนอกของกงตั้ง และบากปลายให้เข้ากับทวนหัวและทวนท้าย เรือไทยส่วนมากมีลักษณะท้องเรือกลมและต่อแบบต่อเรียบ กล่าวคือ เอาข้างแบบกระดานชนกันไม่ซ้อนกันแบบต่อเกล็ด โดยขั้นตอนการต่อเรือประมงแบบทั่วไปที่ชลบุรีจะเริ่มที่วางกระดูกงู ตั้งโขนเรือหรือทวนหัวและไปจบที่ทาสีเรือ (ตามที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นในสารัตถะโดยสังเขป) อาจกล่าวได้ว่าภูมิลักษณ์ของชุมชนชายฝั่งจังหวัดชลบุรีกับวิถีชีวิตริมน้ำมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาแต่โบราณกาล โดยเฉพาะอาชีพการต่อเรือที่เป็นการสะท้อนถึงภูมิปัญญาของผู้คนแถบชายทะเล ที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถเชิงช่างเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์และคุณค่าต่อชุมชนแถบนี้
“ช่างต่อเรือประมง” ที่จังหวัดชลบุรี จากการค้นคว้าสอบถามจากชาวประมงและผู้มีอาชีพเกี่ยวเนื่องกับการประมงพบว่าการต่อเรือเริ่มเป็นอาชีพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นเรือต่อประมงที่เรียกว่า “เรือใบ” แต่ถ้าย้อนไปในอดีตตามหลักฐานในสมุดไตรภูมิบริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดชลบุรีและใกล้เคียงมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อยทำให้เกิดเรือเดินทะเลขนาดใหญ่เช่น เรือสำเภา เรือกำปั่น และมีอู่ต่อเรือหลวงเกิดขึ้นหลายแห่ง (เช่นที่จังหวัดจันทบุรี) การค้นพบแหล่งเรือจมจำนวนมากจากการสำรวจโบราณคดีใต้น้ำในเขตอ่าวไทยจังหวัดชลบุรี ได้ช่วยยืนยันถึงเส้นทางการค้าทางทะเลแถบนี้เป็นอย่างดี อย่างสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๓) เป็นต้น กรณีการสืบทอดของงานช่างต่อเรือใบส่วนของนายประวัติ มุตตามะระ จะใช้วิธีการสังเกตเฝ้าดูแววความสามารถของช่างแต่ละคน ถ้าเห็นว่าคนไหนมีหน่วยก้านดีมีความขยันขันแข็ง มีฝีมือดี นายประวัติจะเฝ้าสอนและให้ความรู้อย่างเต็มที่ หากมีอู่ต่อเรือข้างนอกมาติดต่อขอรับช่างในความดูแลของนายประวัติให้ไปช่วยเหลือในการต่อเรือของผู้อื่นโดยให้นายประวัติคัดชื่อช่างให้ ช่างดีมีความขยันและมีฝีมือก็จะถูกเลือกให้ไปทำงานต่อเรือที่ต่างอู่ได้
สำหรับช่างผู้สร้างผลงานก็คือนายประวัติ มุตตามะระ ประกอบอาชีพอยู่บ้านเลขที่ ๗๗๖/๓๔๗ หมู่ที่ ๙ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มาเป็นเวลานาน และด้วยฝีมือและความเชี่ยวชาญในการต่อเรือไม่ว่าจะเป็นเรือประมง เรือท่องเที่ยวหรือเรือโดยสาร ที่มีรูปทรงสวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ฝีมือประณีต แข็งแรงทนทานจึงทำให้เป็นที่รู้จักกันดีของอู่อาชีพชาวเรือ ชาวประมงในท้องถิ่นตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง เช่น ระยอง จันทบุรี ตราด และจังหวัดทางภาคใต้บางจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าจ้างมาให้ต่อเรือต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา
ขั้นตอนกระบวนการผลิต / วิธีทำ (Know how) ในขั้นเตรียมการจะประกอบด้วย เตรียมหาไม้ตามชนิดที่ต้องการใช้งาน และเตรียมเครื่องมือที่ใช้ในการต่อเรือทุกชนิด พอได้พร้อมตามเนื้องานแล้วจึงดำเนินขั้นตอนการต่อเรือ ซึ่งสามารถแบ่งขั้นตอนได้ดังนี้
๑. วางกระดูกงู เป็นขั้นตอนแรกของการต่อเรือ กระดูกงูเปรียบได้กับสันหลังของคนจึงต้องวางไม้กระดูกงูที่ดัดโค้งไปตามรูปท้องเรือให้โค้งกับน้ำ (ตามเครื่องวัดระดับด้วยปรอทและขึงเชือกให้ตรง) ในการวางกระดูกงูที่ต้องทำบวงสรวง “แม่ย่านาง” ด้วยผ้าแดง ผ้าขาว และเงิน ๙ บาท พร้อมดอกไม้ธูปเทียนหลังวางกระดูกงูเสร็จ
๒. ตั้งโขนเรือหรือทวนหัว โขนคือไม้ที่เสริมหัวเรือและท้ายเรือให้งอนเชิดขึ้น (เรียกว่าแม่ย่านาง) โขนจะต่อมาจากกระดูกงูเรือ
๓. ตั้งทวนท้ายหรือหลักทรัพย์ เป็นขั้นตอนการต่อตะเกียบยื่นออกไปให้ได้รูปทรงทำให้เรือเป็นรูปสามเหลี่ยม
๔. วางกงเป็นโครงเรือ วางพาดไปตามความยาวของเรือเป็นหลักให้กงตั้งซึ่งจะติดกับกงยาก กงตั้งจะโค้งไปตามลักษณะความลึกของท้องเรือ ตั้งแต่หัวเรือขนานกันไปเรื่อย ๆ จนถึงท้ายเรือ
๕. วางตะเข้เรือ ทับกับกงตั้งอีกทีหนึ่งเพื่อให้เรือแข็งแรง เสริมกระดูกงูให้แข็งแรงขึ้น
๖. ขึ้นราใบที่อยู่ด้านในของเรือ เพื่อยึดเรือให้แข็งแรงโดยการตีทับกงตลอดลำเรือจากหัวเรือถึงท้ายเรือ
๗. ขึ้นกระดานเรือ คือการวางกระดานเรือตั้งแต่ด้านล่างสุดมาถึงด้านบนตรงกาบเรือโดยไม่ใช้ตะปู แต่ใช้ไม้ทำเป็นรูปสลักแทน (ทำจากไม้เนื้อแข็งเช่น ไม้แสมสาร ไม่ประดู่ ไม้ตะเคียน ฯลฯ)
๘. ใส่กงดาดฟ้าหรือวางคาน ปูกระดานดาดฟ้าเป็นลายอเนกประสงค์
๙. ติดราโทด้านข้าง เพื่อความแข็งแรงยิ่งขึ้นและมีกาบอ่อนในอยู่ด้านนอกของตัวเรือ
และปิดกาบอ่อนในให้ดูเรียบร้อยสวยงามด้วยการตีปิดหัวกง
๑๐. ทำห้องเย็นอยู่ด้านหน้าของหัวเรือใช้เก็บปลา ต้องมีการอัดด้วยโฟมทุกด้านภายในห้องเย็น และส่วนนี้ของตัวเรือมีเนื้อที่มากที่สุดเพราะหากตัวเรือใหญ่เท่าไรจำนวนห้องเย็นก็จะมีพื้นที่มากตาม เพื่อประโยชน์ในการใช้สอยเก็บปลาเก็บกุ้งและอื่น ๆ ได้เต็มที่
๑๑. ทำเก๋งเรือ เป็นการต่อโครงสร้างยกให้สูงขึ้นกว่าดาดฟ้า เป็นห้องเล็ก ๆ มีหลังคากันฝนเป็นทั้งห้องบังคับเรือ (สูงมองได้ไกล) และเป็นที่พักผ่อนหลับนอนของลูกเรือและไต้ก๋งเรือ
๑๒. วางเครื่องยนต์ไว้ชั้นล่างของตัวเรือ บริเวณส่วนท้องเรือมีไม้สองท่อนวางขนานกันและเชื่อมกับใบทวนเรือซึ่งยื่นออกไปหลังหลักทรัพย์ท้ายเรือ
๑๓. ตอกหมันด้วยการนำด้ายดิบผสมชันยาเรือ พร้อมไปกับน้ำมันยางผสมปูนแดงเพื่ออุดรูสลักและรอยต่อระหว่างแผ่นกระดานเพื่อป้องกันน้ำรั่วเข้าไปภายในเรือ
๑๔. ทาสีเรือ เพื่อกันแดดกันฝน กันน้ำ กันตัวเพรียง บริเวณท้องเรือและกระดานเรือมักนิยมทาสีเขียว ส่วนราโทและกาบอ่อนมักจะทาสีส้มกับสีขาว
“ช่างต่อเรือประมง” ของนายประวัติ มุตตามะระ ทำอยู่ที่ ๗๗๖/๓๔๗ หมู่ที่ ๙ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
สรุปผลการวิเคราะห์
ช่างต่อเรือประมงที่จังหวัดชลบุรี มีภูมิปัญญาแสดงให้เห็นถึงการทำงานและการแก้ปัญหาหลายด้านอย่างเช่น การต่อเรือทั้งลำโดยไม่ต้องใช้พิมพ์เขียว (แบบเขียว) หรือการออกแบบรูปทรงเรือไว้ก่อนล่วงหน้าเพื่อเป็นภาพร่างต้นแบบสำหรับกำกับขนาดสัดส่วนการต่อเรือในแต่ละส่วน (ขั้นตอน) หากแต่ช่างจะใช้ภูมิรู้และประสบการณ์ในการทำอย่างพอเหมาะพอดีกับรูปแบบเรือแต่ละขนาด เริ่มตั้งแต่การวางกระดูกงูช่างจะวางไม้ให้ได้ระดับด้วยการใช้เชือกขึง โดยเฉพาะการเปรียบเทียบการวางกระดูกงูเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของคน การตั้งโขนเรือหรือแม่ย่านางเรือหรือทวนหัวเหมือนกับวางรากฐานสำคัญในการต่อเรือ เปรียบเหมือนกับการสร้างบ้านต้องปักเสาก่อนการตั้งทวนท้ายหรือหลักทรัยพ์ เช่นเดียวกับต่อตะเกียบยื่นออกมาได้รูปทรงทำให้ทวนท้ายแข็งแรง การวางกงตั้งเรือ กงยาวเรือเหมือนกับโครงกระดูกที่ยึดกับกระดูกงูหรือกระดูกสันหลังคนเป็นต้น
ประการสำคัญ การต่อเรือช่างจะไม่นิยมใช้ตะปูเหล็กตอกไม้กระดานเรือเพราะตะปูเหล็กจะเป็นตัวก่อให้เกิดสนิมและทำให้เรือรั่วได้ง่าย แต่จะใช้ไม้ลูกสลักตอกแทนตะปู ไม้ลูกสลักเป็นไม้เนื้อแข็งมีความทนทานจึงช่วยให้การใช้งานอยู่ในน้ำทะเลได้เป็นเวลานานไม่เกิดรอยรั่ว ส่วนองค์ความรู้จากการวิเคราะห์ในชั้นต้น น่าจะเป็นกรรมวิธีทางช่างที่ค่อนข้างมีการแบ่งขั้นตอนการต่อเรือไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเสร็จสมบูรณ์ มีการระบุชื่อองค์ประกอบของชิ้นส่วนตัวเรือประมงไว้อย่างชัดเจน ซึ่งช่วยให้เข้าใจหน้าที่การใช้งานของส่วนประกอบนั้นได้ดีขึ้นได้แก่ โขนเรือ (ทวนหัว) กงเรือ (กงตั้ง – กงนอน) กระดูกงู ฯลฯ
กรรมวิธีขั้นตอนการต่อเรือตามวิธีดั้งเดิม เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับประเพณีความเชื่ออยู่มาก เช่น หลังจากวางกระดูกงูแล้วจะต้องทำพิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ เรียกว่า “ไหว้แม่ย่านาง” เจ้าของเรือต้องหาวันเวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ในการที่จะวางกระดูกงูเรือและประกอบทวนหัว โดยอาศัยการคำนวณทางโหราศาสตร์ในวันเดียวกันกับที่ประกอบทวนหัวนี้ เจ้าของเรือจะเจาะรูที่ทวนหัวเพื่อบรรจุทองคำหนัก ๑ หรือ ๒ กรัม มีบางลำเจาะถึงสามรูเพื่อบรรจุทอง เงิน และนาก เสร็จแล้วมีการสวดมนต์เลี้ยงพระ ใช้ผ้าหลายสีล้วนเป็นสีฉูดฉาด (ตามปกติมีสีแดงอยู่ด้วย) พันไว้ที่ทวนหัวตอนบน มีดอกไม้ธูปเทียนบูชาเสียบไว้ในระหว่างผ้าที่พันและคล้องพวงมาลัยที่ทวนหัวอีกด้วย พร้อมกับมีการเซ่นไหว้ด้วยหมู ไก่ กล้วย ขนมต้มแดงต้มขาว เป็นต้น หรือเมื่อก่อนจะปล่อยเรือลงน้ำเจ้าของเรือต้องไปหาฤกษ์ยามอันเป็นมงคลจากอาจารย์โหราศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับก่อนออกเรือชาวประมงต้องทำการบวงสรวงแม่ย่านางเรือ เจ้าพ่อ เจ้าแม่ในท้องถิ่น เจ้าแม่แห่งทะเล เจ้าแม่ท้องน้ำ ในขณะที่เรือเคลื่อนออกจากอู่อาจมีการจุดประทัดเพื่อแสดงการออกเรือได้
ข้อมูลช่างต่อเรือจัดว่าเป็นข้อมูลที่เสี่ยงต่อการสูญหายตามที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น ในเรื่องภูมิปัญญาเชิงช่างการต่อเรือจึงควรได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้มีการศึกษาวิจัยอย่างลงลึกเพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่ชัดเจนต่อไป (รายละเอียดเฉพาะแต่ละขั้นตอนระบุการทำงานอย่างละเอียดชัดเจน) เพราะข้อมูลเท่าที่จัดเก็บได้ในเอกสารเดิม มีเพียงขั้นตอนเป็นภาพรวมเท่านั้น ซึ่งการจะนำไปเป็นองค์ความรู้ได้จะต้องถอดรหัสในกรรมวิธีนั้นให้เด่นชัดและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ
ตามมาอ่าน
พร้อมส่ง! เรือพายไม้ เรือก๋วยเตี๋ยว เรือไม้สัก เรือลำเล็ก เรืออีแปะ
www.thaiwoodenboat.com